โต๊ะครูใต้ ฮีโร่สามจังหวัด

In the name of ALLAH the most gracious the most merciful
a  wake a story 05 08042010

โต๊ะครูใต้ ฮีโร่สามจังหวัด

1

เมื่อหลายปีก่อน นิตยสารหัวการเมือง(ค่อนไปทางอิสระ)ฉบับหนึ่ง ขึ้นปกรูปบินลาเดนซะร่า พร้อมโปรยตำแหน่งให้ด้านล่างว่า “ประธานาธิบดีแห่งความกลัว”  ด้วยกับการขัดสนเงินทองในเวลานั้น หรืออย่างไรจำไม่ได้ ฉันจึงไม่ได้ซื้อเล่มนั้นมาอ่าน แต่เห็นแค่ปกก็พอจะตีเนื้อหาด้านในออกมาได้ ขนาดที่ว่าแกะตับไตไส้พุงออกมาวางด้านหน้าซะให้ได้กันเลยทีเดียว

ปัจจุบันโลกของเราวกวนอยู่กับวาทกรรมในหลายต่อหลายเรื่อง(อาจารย์บอกว่า วาทกรรมคือ ความจริงชุดหนึ่งที่มันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด หรือเอาง่ายๆก็คือข้อมูลบางอย่างที่คนใดๆผลิตออกมาตามแต่ใจฉันซะส่วนใหญ่ คนอื่นๆจะเห็นเป็นไง ช่างมัน…) ถ้ารูปบินลาเดนรูปนั้นถูกขึ้นปกนิตยสารในปาเลสไตน์ ในอัฟกัน หรือในอิรักแล้ว ฉันมั่นใจเลยว่า คำโปรยด้านล่างต้องเป็นผู้นำของเหล่านักสู้หรือ ประธานาธิบดีแห่งความกล้าอะไรประมาณนั้น แน่นอนหากตะวันตกรู้ คนที่อยู่ข้างบินลาเดน(โดยเชื่อว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 9/11) ก็จะกลายเป็นพวกแขกหัวรุนแรง ไม่ก็มุสลิมหัวรุนแรง แม้ว่าจะเป็นคนอิรัก คนอัฟกัน ทั้งประเทศ(ก็ตำรวจโลกบอกนี่) แม้ว่าพวกเขาจะสู้เพื่อปกป้องดินแดนตนเอง แต่คุณ(อเมริกา)เป็นอันธพาลเที่ยวเกะกะระรานแผ่นดินคนอื่นซะให้ทั่วก็ตามที

หลายต่อหลายเรื่องเราปกปิดหัวใจตนเอง ทั้งที่รู้อยู่ว่าความจริงเป็นเช่นไร

2

ย้อนไปเมื่อปี พุทธศักราช 2482 ท่านผู้นำนามว่า จอมพล ป.(แปลก) พิบูลสงคราม เริ่มต้นนโยบายชาตินิยม หวังจะปีนป่ายเทียบเท่ากับอารยะประเทศเช่น ตำรวจโลกกับเขาบ้าง พระสงฆ์ถูกห้ามสั่งสอนในเรื่องของการถือสันโดษ เพราะถือว่าขัดกับความเจริญ(ตรงไหน?) ยุคสมัยที่ผ้าคลุมผมผู้หญิงมุสลิมถูกห้าม หมวกขาว(กะปีเยาะห์)ก็ด้วย ผ้าโสร่งก็พลอยตกเป็นเหยื่อไปด้วย ไม่รู้ว่าลุงแปลก เขาเอาเกณฑ์อะไรมาใช้ นโยบาย chang “วัธนธัม” (ยุคนั้นเขาเขียนแบบนี้จริงๆ)ของลุงแปลกนี้ ช่างระรานสิทธิเสรีภาพของเหล่าประชาชนเขาไปทั่ว

3

คนทำดีแต่กลับถูกมองว่าไม่ดี ซ้ำยังโดนเหยียดหยามกดขี่อีก จึงได้บังเกิดฮีโร่ ณ กลางใจของเหล่าชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ขึ้นมาทันทีทันใด เสมือนเหล่าปีศาจปรากฏกายที่ใด ขบวนการห้าสีก็ต้องอยู่ที่นั้น นโยบายเปลี่ยนวัฒนธรรมอันเลื่องลือนั้น มันเปลี่ยนและกลืนกินชีวิตชาวมลายู ทำให้เหล่านายนางเหล่านั้น มีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป  ลืมอิสลามอันมีเกียรติที่พวกเขาเคยมี

พุทธศักราช 2470 หลังจากไปร่ำเรียนมาจากแดนไกล หะยีสุหลง โต๊ะครูชื่อดังกลับมาจากนครเมกกะ  ซาอุดิอารเบีย ท่านมองปัตตานีในวันนั้น เสมือนยุคก่อนศาสดาจะมาเผยแพร่อิสลาม โต๊ะครูหลายต่อหลายคนไม่สอนในคำสอนที่แท้จริง แต่กลับสั่งสอนประชาชนตาดำๆในเรื่องประเพณีคร่ำครึ ไร้แก่นสาร แต่ท่านผู้นำชอบใจ เพราะเหนือสิ่งอื่นใดท่านผู้นำนั้นต้องการขจัด ชะล้าง อิสลามในชาวมลายู มากกว่าความเป็นมลายูของนายนางเหล่านี้มากกว่าซะด้วยซ้ำ และยิ่งพวกเขาฮึดสู้ ชูประเด็นรักเชื้อชาติขึ้นมา ความเป็น “รักอิสลาม” ก็เริ่มเป็นรองและจืดชืดลงไป หะยีสุหลงยอมไม่ได้เป็นอันขาด ท่านมองการณ์ไกลว่า อิสลามคือสิ่งที่เราต้องรักษา ส่วนความเป็นมลายูคือสิ่งที่เราต้องปกป้อง เพราะมลายูที่ลืมอิสลาม จะดีไปกว่าอิสลามที่ไม่มีในมลายูได้อย่างไรกัน ท่านตรากตร่ำสอนอิสลามอันบริสุทธิ์แก่ชาวมลายู สอนให้รู้ว่า คัมภีร์อัลกุรอานและวจนะศาสดานั้นสำคัญเพียงใด และทำไมถึงต้องเรียกร้องให้กลับไปสู่สิ่งทั้งสอง จนวงการโต๊ะครูยุคนั้นตาร้อนผ่าว ตะลีตะลานตกงานกันไปอย่างหวบหาบ จนถูกกล่าวหาว่าเป็นโต๊ะครูหัวใหม่ รัฐบาล จอมพล ป. ก็ได้หานิ่งนอนใจไม่ เมื่อรู้ว่า ณ ขณะนี้ชาวมลายูรักอิสลามของพวกเขามากกว่าเชื้อชาติตัวเองซะแล้ว จุเลียส ซีซาร์ จักรพรรดิโรมัน เคยกล่าวไว้ว่า

จงระวังผู้นำที่ตีกลองรบเพื่อปลุกสำนึกรักชาติของพลเมือง เพราะสำนึกนี้ทำให้เลือดปะทุห้าวหาญได้เท่ากับทำให้สติปัญญาแคบลง เมื่อเสียงกลองรบระงมถึงจุดสุดยอด เลือดจะเดือดพล่านด้วยความเกลียดชัง ดวงปัญญาก็จะปิดสนิท คราวนี้ไม่จำเป็นที่ผู้นำต้องริบเอาสิทธิของพลเมืองไป หากพลเมืองเองซึ่งเต็มไปด้วยความหวาดกลัวและสำนึกรักชาติ จะยกสิทธิทั้งหมดของตนให้แก่ผู้นำด้วยความยินดี

ท่านผู้นำเข้าใจกฎข้อนี้ดี เขาเอามาใช้กับตัวเอง กับเหล่าผู้นำและประชาชนในสามจังหวัดสมัยนั้น   กลับไปที่ปัตตานี หะยีสุหลงเข้าใจเหล่กลนี้ดี ท่านปรับความเข้าใจกับชาวมลายูว่า ความจริงนั้น พวกท่านต้องทำอะไร  ใครจะรู้บ้างเล่า ว่าท่านผุ้นำจะกลัวเรามาก ถ้าเรานั้นมีศาสนา เป็นอิสลามนิยม มากกว่ามลายูนิยม

พุทธศักราช 2472 หะยีสุหลงเปิดโรงเรียนศาสนาแห่งแรกในปัตตานีใช้ชื่อว่า “มัดราเซาะห์อัลมูอาริฟอัลวาฏอนียะฮฺปัตตานี” เวลาเดียวกันนั้นเอง ไม่นานนักท่านก็ถูกจับ และเริ่มโดนเหล่านักการเมืองผู้เสียประโยชน์ สาดน้ำสาดโคลน แต่ท่านตระหนักดีในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนดี ที่ต้องอดทนเป็นนิจศิล ท่านกล่าวกลับไปขณะอยู่ในคุกที่ นครศรีธรรมราช ว่า

ข้าพเจ้าไม่เคยสนใจต่อข้อครหานินทาและข้อกล่าวหาที่ไร้สาระ เพราะข้าพเจ้าไม่เคยทำอะไรที่ขัดต่อกฎหมายบ้านเรือน ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งธรรมดาสำหรับผู้ที่ทำงานเพื่อส่วนรวม สมัยพระศาสดานบีมุฮัมมัดก็เคยประสบกับสิ่งเหล่านี้มากมายจนต้องอพยพจากนครเมกกะไปยังนครเมดีนะฮ์ แต่พระองค์ก็ทรงเผยแพร่ศาสนาของอัลลอฮ์ได้สำเร็จ        ถ้าเราไม่กล้ากระทำในสิ่งที่ศาสนากำหนดไว้ ทั้งๆที่เราเรียนรู้มาแล้ว คนรุ่นหลังก็จะมีแต่คำสาปแช่งคุณงามความดีอะไรจะยิ่งใหญ่เท่ากับการต่อสู้เพื่อศาสนาอิสลามอันประเสริฐ

วันนี้มีโต๊ะครูหลายท่านที่ถูกรัฐบาลไทยกล่าวหาและใส่ร้ายอย่างหยาบโลน ซ้ำยังนำเข้าคุกโดยที่ข้อกล่าวหาก็ยังไม่เข้าท่าเข้าทีอะไร แต่ทำเพื่อลูกพี่ใหญ่ อเมริกาไปก่อนนั้น เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ว่า ทำไมภาคใต้จึงไม่สงบเสียที เพราะรัฐบาลไม่เข้าใจว่าโต๊ะครูนั้นสำคัญมากขนาดไหน สำหรับชาวมุสลิมในภาคใต้

4

ขุนจรรยาวิธาน(ยูโซ๊ะ มโรหบุตร) ข้าราชการบำนาญกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้นเล่าว่า…
ทุกตอนเย็นจะมีชาวบ้านกลุ่มใหญ่ เดินผ่านหน้าบ้านผมทุกวัน เสียงเกี๊ยะที่เดินผ่านหน้าบ้านผม ดังกริ๊กๆๆ ลั่นไปหมด พวกนั้นเขาเดินไปละหมาดกันที่โรงเรียนหะยีสุหลง…”

หลายต่อหลายครั้งที่ฉันต้องการจะไปเยี่ยมเยียน เพื่อนๆที่จังหวัดปัตตานีด้วยรถมอเตอร์ไซด์นั้น  ประสบการณ์ที่เคยเจอกับตัวเอง ทำให้ฉันต้องคิดไว้ล่วงหน้าว่าวันนี้ต้องเจอด่านตรวจเท่าไร จะพูดกับทหารยังไง ไหนจะหนังสือศาสนาภาษาอาหรับ-ยาวี ในกระเป๋าอีก บางครั้งทั้งที่เป็นหนังสือหลักภาษา หลักอัคลาก(จริยธรรม) ก็ยังโดนสงสัยว่าเป็นหนังสือสอนก่อการร้าย กังวลไปซะทุกอย่าง กังวล…ไม่ใช่เพราะว่าฉันเป็นโจร แต่กังวลว่ามันจะทำให้ฉันเสียเวลาในการเดินทาง ซ้ำยังเอาแน่เอานอนไม่ได้กับทหารพรานบางคน ถือปืนพิทักษ์สันติราษฎร แต่ปากนั้นเล่า เหม็นหึงและอาบโลนด้วยเหล้าขาว ฉันเข้าใจชาวบ้านดีก็ด้วยเรื่องเหล่านี้ ทำไมสำหรับพวกเขาแล้วทหารคือความกลัว หาใช่ความปลอดภัยอย่างที่ควรจะเป็น

วาทกรรมที่มีการมองอย่างหวาดกลัวบนชาวมลายู(ทั้งที่เขาไม่ได้ชั่วไปทุกคน) ทำให้พวกเขากลัว สับสน และไม่มีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกันชาวมลายูก็ต้องการความสันติจากเรื่องร้ายต่างๆ พวกเขาเป็นแค่คนธรรมดาซึ่งอยู่กันบนแผ่นดินที่พระเจ้าให้เขามา ดั่งเช่น อินเดีย พระเจ้าก็ให้คนฮินดูอาศัยเป็นส่วนใหญ่ อารเบีย ก็ให้อาหรับชนอยู่ พวกเขาไม่ได้ต้องการจะก่อความเดือดร้อนให้กับเพื่อนบ้านตนเอง ซึ่งมีทั้งชาวไทยพุทธและไทยคริสต์ แต่วาทกรรมทำให้ชาวมลายูกลายเป็นแขก แขกที่น่ากลัว ทุกคนต้องกลัวเกรง ไม่รู้เมื่อไรมันจะมาฆ่าฉัน มาเผาโรงเรียน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นการฆ่าครูซึ่งเป็นคนดีคนหนึ่ง เสียสละหน้าที่มากมายแค่ไหนใครก็รู้กัน หรือแม้แต่เผาโรงเรียน เหล่านี้หากเป็นผลงานชิ้นโบดำของชาวมลายูจริง ก็เป็นแค่คนส่วนน้อย เป็นหยดน้ำจากปลายนิ้ว ซึ่งได้จากสายน้ำบริสุทธิ์ที่หะยีสุหลงพยายามกลั่นออกมาเมื่อครั้งอดีตแล้วนั้นเอง “สายน้ำอิสลาม แห่งความสันติ และปกป้องมลายูในฐานะที่เป็นเชื้อชาติหนึ่ง หาใช่ความเป็นชาตินิยมที่อิสลามห้ามไว้”

เพราะหากวาทกรรมสื่อ หรือจากรัฐบาลมองว่าชาวมลายู(แทบจะทุกคน) ปอเนาะทุกแห่ง เป็นแหล่งบ่มโจรแล้วล่ะก็ ทุกวันของชาวมลายูก็จะต้องอยู่ในการปกครองของนายกรัฐมนตรีแห่งความกลัว ทหารแห่งความกลัว ข้าราชการแห่งความกลัว และเพื่อนบ้านแห่งความกลัว มันเป็นการคลาดเคลื่อน ซึ่งมาจากพวกมีผลประโยชน์ไม่กี่คน  คอยเป่าหูให้พี่น้องชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมทะเลาะกัน วาทกรรมจึงเป็นการรู้ไม่หมด แต่อยากพูด จึงเป็นอันตรายสร้างความขัดแย้งขึ้นมาได้เหมือนกัน

วันนี้เรามีเรื่องที่คนบางคนไม่อยากให้รู้ แต่มันมีอยู่จริง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี กับเรื่องที่คนบางคนอยากให้เรารู้มากซะจริงๆทั้งที่มันไม่มีความจำเป็นเลยซะด้วยซ้ำ ครูท่านหนึ่งเคยบอกฉันว่า เรื่องของคนบางคน แค่บรรทัดเดียวก็ยาวเกินไปแล้วสำหรับเรา รู้ไปก็ไร้สาระ…ฉันเข้าใจได้ก็วันนี้ล่ะ

ฉันขอตบท้ายด้วยถ้อยคำของหะยีสุหลง เมื่อครั้งถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏและถูกจำคุก และต่อมาก็ถูกปล่อยให้เป็นอิสระว่า

“…กระผมเพียงแต่ทำการสอนหลักศาสนาแก่ทุกคนที่สมัครใจเรียน และไม่เคยไปไหนเลยแม้แต่งานเลี้ยงและงานศพ เพื่อป้องกันมิให้ถูกเพ่งเล็งในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร…” ในตอนท้ายจดหมาย หะยีสุหลงได้ขอสอนศาสนาต่อไป โดยการอนุมัติของกระทรวงมหาดไทยและกล่าวว่าหากตนเองต้องตกอยู่ในภาวะที่ถูกเพ่งเล็งตลอดไปเช่นนี้ อาจจะขอย้ายไปอยู่เสียยังประเทศอื่น…

วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2497 หะยีสุหลงเดินทางออกจากปัตตานีสู่สงขลาพร้อมเพื่อนอีกสามคน เพื่อเข้าพบและรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาล(ที่ยังคงระแวงและเฝ้าติดตามอยู่ตลอดเวลา) แต่ใครจะรู้ว่าภาพการละหมาดวันศุกร์ ของเที่ยงวันนั้นสำหรับปราชญ์คนหนึ่งกับสหายอีกสามคน โดยเฉพาะหะยีสุหลงนั้น จะเป็นภาพสุดท้ายของเขา เพราะหลังจากวันนั้นก็ไม่มีใครพบเขาอีก ต่อมาจึงมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า พบศพของท่านบริเวณทะเลสาบสงขลา

ความจริงจะเป็นเช่นใดนั้น อัลลอฮฺ(ซ.บ.)พระเจ้าของเราเท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่ง แต่ความจริงอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้และประจักษ์ได้ทันทีหลังจากวันนั้นก็คือ พระเจ้านั้น รักเหล่านักสู้และผู้รู้ แต่พระเจ้าก็รีบเร่งที่จะเรียกเขาเหล่านั้นกลับสู่พระองค์เช่นกัน เหลือไว้แต่ผู้คนที่ไม่(อยาก)รู้ ไม่(อยาก)ศึกษาหาความจริง ให้ได้ใช้ชีวิตบนโลกใบนี้อย่างยาวนานต่อไป สมกับคำพูดของพี่ชายคนหนึ่ง ที่เคยบอกฉันไว้ว่า…

โลกนี่น่ะ มีแต่ชีวิตจริง แต่ไม่ใช่ความจริงสักกะอย่าง…แล้ววันหนึ่งท่านก็จะเข้าใจเอง.

อ้างอิงข้อมูล
เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร.2547.หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ กบฏ…หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้.กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์มติชน.264 น.

………………………………………………………………………………………………………………………………….


การแต่งกายของคหบดี(ผู้มีอันจะกิน)เมืองปัตตานีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ยังไม่มีการใช้ผ้าคลุมผมแต่นำมาห่มเป็นผ้าสไบ ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ

อิทธิพลการสอนศาสนาและดะฮฺวะฮฺของโต๊ะครูสมัยใหม่ ทำให้เกิดชุดดะวะห์ (เรียกตามกลุ่มคนดะวะห์) ต่อมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อชุด ฮิญาบ ซึ่งประกอบด้วย เสื้อกุรงสีขาว ผ้าถุงสีพื้นยาวกรอมเท้า จุดเด่นของชุดนี้คือ ผ้าคลุมผมซึ่งประกอบด้วยผ้าสีดำสำหรับปิดผมแล้วคลุมทับด้วยผ้าขาวหรือดำยาว คลุมไหล่ อีกชิ้นหนึ่ง ที่มา : เมืองโบราณ, 2536 :หน้าปก


จอมพล ป.(แปลก)พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 และอีกหลายสมัยในเวลาต่อมา ชื่อจริง “แปลก” นั้น มาจากการที่เกิดมาแล้ว หูอยู่ต่ำกว่าตา และว่าเป็นผู้นำที่มีนโยบายหลายอย่างขัดกับมุสลิมในประเทศ  เช่นห้ามใส่ผ้าคลุม ห้ามใส่กาปีเยาะห์หรือแม้แต่ออกนโยบายสร้างกะบะฮ์ขึ้นในไทย เพื่อป้องกันการรั่วไหลเงินตราออกนอกประเทศจากผู้ทำฮัจญ์ (จน สว.มุสลิมท่านหนึ่ง ต้องบอกกล่าวว่าต้องอยู่ที่มักกะฮฺเท่านั้น และยกกุรอานซูเราะฮฺอัลฟีล มาอธิบาย ถึงได้ยกเลิกไปในที่สุด)

ข้อมูลเพิ่มเติม :
ยุทธศาสตร์ผ้าคลุมผมและหมวกกปิเยาะห์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

2 thoughts on “โต๊ะครูใต้ ฮีโร่สามจังหวัด

  1. Pingback: ตอบโจทย์ฯ: หะยีสุหลง | "ตะเกียงไฟแห่งศรัทธา ในความมืดมิดของยุคสมัย"

ใส่ความเห็น