วิถีผู้น้อบน้อม – เที่ยวละไมไปเกาะลิบง

วิ ถี ผู้ น้ อ บ น้ อ ม
เที่ยวละไมไปเกาะลิบง
เรื่องราว : เพือน ชาวประมง | ภาพ : Meng_Ameen
พิมพ์ครั้งแรก: สมิอฺนา เล่ม 10 (Download)

ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา เรานัดแนะกันหนีปืนฉีดน้ำ ไปหลบเหาะอยู่ที่ เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อไปเยี่ยมบ้านบังอุ้ม รุ่นพี่ผมหนึ่งปีที่สนิทสนมกันมาเนิ่นนาน จะรู้จักกันจริงๆก็ต้องไปเยี่ยมบ้านกันจริงไหม? มันเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการคบเพื่อนที่ยึดถือเป็นคติประจำใจมาตลอด ถ้าไม่ลำบากจริงๆในเรื่องเวลา ผมก็จะพยายามไปให้ถึง เว้นแต่คุณจะมีเพื่อนเป็นคนชนเผ่ากาโร ที่อาศัยอยู่ในหุบเขาโอโม ทางใต้ของประเทศเอธิโอเปีย อย่างนั้นมันก็ลำบากเกินไป บังอุ้มเป็นคนมีเอกลักษณ์ที่น่าฉงนอยู่อย่างหนึ่ง เป็นคนชอบข้าวของโบร่ำโบราณซึ่งกลายเป็นลักษณะพิเศษของแก ผมจึงสงสัยว่าความเป็นอยู่สภาพแวดล้อมของสังคมบ้านเกิดของแกจะเป็นยังไง ถึงได้หล่อหลอมคนประเภทนี้ขึ้นมาได้ หลังจากแกเรียนจบไปทำงานที่กรุงเทพฯอยู่พักหนึ่งทำให้พวกเราไม่ได้เจอหน้ากันหลายเดือน แต่แกคงทนพิษวัตถุนิยมสามานย์ไม่ไหว กัดฟันดิ้นรนเหงื่อท่วมใจ ในที่สุดเลยสะบักสะบอมสะพายเป้คู่กายกับรองเท้าหนังหายากยุค 80’ กลับมาปักหลักปักฐานที่ชายคาอันคุ้นเคยก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากันใหม่ ตอนกลับมาแกบรรยายความทรมานที่ต้องเจอะเจอให้พวกเราฟังทั้งคืน ทำเอาหูผึ่งกันเลยทีเดียว อย่างเรื่องละหมาดวันศุกร์ “เอ่ะ อุ้มนี้ทำไมไปกินข้าวนานจัง นี่ก็เกือบจะบ่ายสองแล้ว ทำไมยังไม่กลับมาอีก” เพื่อนๆร่วมงานบ่นพึมพำ

“ก็รถมันติด แถมมัสญิดก็อยู่ไกลที่ทำงาน จะให้ทิ้งละหมาดก็ไม่ได้เดี๋ยวก็ตกศาสนา สิ้นสภาพการเป็นมุสลิมกันพอดี” บังอุ้มพึมพำกลับไป อณูศรัทธาเร่าร้อน
เราออกเดินทางจากหาดใหญ่ตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้า มีผม บังนีฟ บังอุ้ม บังซัลมาน บังฮับลี และบังลุกมาน เราต้องขอโทษคนที่อยากไป แต่เราไม่ให้ไปอีกหลายคน ด้วยเหตุผลที่ว่าเรือที่เราเช่ามันเล็กเหลือ ถ้าไปกันเยอะๆ แทนที่จะลงเรือกลับจมเรือแทนก็เป็นได้ จากคำร่ำลือของเพื่อนๆ บอกว่าทะเลและหมู่เกาะที่ตรังสวยงามมาก โดยเฉพาะถ้ำมรกต หากว่าได้พักที่บังกะโลสวยๆริมหาดทรายสีขาว มีเม็ดทรายกระทบแสงอาทิตย์ระยิบระยับราวเศษแก้วบดละเอียดสะท้อนแสงกลับมาให้ตะลึงตรึงตา ตื่นมาหันหน้าเข้าหาไอแดดอุ่นๆยามเช้า มีลมเย็นพักเอื่อยๆ และน้ำทะเลใสๆคอยกล่อมเกลาไพเราะเสนาะหู ยิ่งถ้าได้แหวกว่ายโต้เกลียวคลื่นขึ้นมาจิบน้ำมะพร้าวเย็นๆ ที่มีดอกไม้เสียบไว้ที่หลอด แหะ แหะ ไม่อยู่ในความคิดพวกเราเลยฝรั่งผมแดงเรียกว่า “เอาท์ดอร์แมน” อย่างพวกเรานั้น เที่ยวทะเลทั้งที ต้องออกทะเลหาปลาท้าคลื่นพิโรธที่โหมกระหน่ำซัดเรือลำน้อยๆ จนน้ำแตกกระจาย

เมื่อถึงเมืองตรัง เราก็รีบไปที่ตลาด พร้อมถือกล่องโฟมใบใหญ่ใส่น้ำแข็งอัดเข้าไป เอาไว้ใส่เหยื่อกุ้งกันกลิ่นเหม็นเน่าพร้อมกับแบกคันเบ็ดสะพายบนหลังประหนึ่งพี่น้องมุญาฮิดีนผู้ห้าวหาญสะพายปืน ออกไปรบราศัตรูผู้จองหองยังไงยังงั้น

“ที่เขาขายกุ้งขายปลาอยู่แถวไหนครับ ? ” บังอุ้มถาม
“ทำไม จะเอาปลาไปขายหรอ ” แม่ค้าย้อนประโยคคำถามกลับมา ถ้าเป็นวิชาภาษาไทยคงสอบตก
“เปล่าครับ จะไปซื้อกุ้งเอาไว้ทำเหยื่อ” บังอุ้มว่า
“จะขายปลาได้ไง ยังไม่ได้ไปตกเลยนะ” เสียงฮับลีบ่นซิกๆข้างหู แม่ค้าก็บอกที่ให้

หลังจากได้ของตามต้องการก็รีบเดินไปขึ้นรถตู้ต่ออีกทีเพื่อต่อเรือที่หาดยาวไปเกาะลิบงเป้าหมายของเรา เมื่อถึงเกาะก็ต้องขึ้นรถโชเล่ย์หรือรถพ่วงข้างอีกต่อ กว่าจะถึงบ้านบังอุ้ม บนเกาะไม่ค่อยมีรถ 4 ล้อให้เห็น มีแต่มอเตอร์ไซค์สองล้อกับสามล้อ คำว่าวัตถุนิยมอาจไม่มีในพจนานุกรมลิบงก็อาจเป็นได้ ก็อย่างว่าน่ะ ใครมันจะเอารถกระบะ รถเก๋ง ซีวิค บรรทุกเรือมาขี่เล่น ถ้าหากมีก็เอาไว้ขนไม้ขนยางพารานั้นก็เพียงแต่รถกระบะโตโยต้ารุ่นพ่อเราเมื่อครั้งยังหนุ่ม

ไม่รอช้า ตกเย็นวันนั้นเราเริ่มออกเรือกันเลย เราไปเยี่ยมเกาะต่างๆกันก่อน

เมื่อแสงอาทิตย์เริ่มเห็นเป็นสีไข่แดงต้มสุก พวกเราก็เริ่มหย่อนสายเบ็ดลงน้ำ ดังตึ้ง !! ไม่เกินห้านาที ปลาก็ติดเบ็ดบังซัลมานเป็น ตามมาด้วยผมแล้วก็ได้กันมาเรื่อยๆคนละตัวสองตัวจนเห็นแสงนวลจันทร์ชัดเจน สายน้ำเริ่มเปลี่ยนทิศ ปลามันเลยเงียบไป

สถานที่เปลี่ยน วิถีชีวิตก็เปลี่ยน การใช้ชีวิตบนเรือลำน้อยยามราตรี กลางทะเลลึกอันเวิ้งว้าง “ยืนละหมาดได้ไหม” เสียงฮับลีอีกแล้ว ตะโกนมาจากท้ายเรือ
“มึงจะบ้าหรอ เดียวเรือมันโคลงเคลง ตกลงไปในน้ำหรอก” บังอุ้มตอบอันนี่เป็นภาษาดอกไม้ของคนใต้เขาละ (HA-HA) บังหมายถึงถ้าละหมาดพร้อมกันเป็นญะมาอะฮฺ ด้วยเหตุผลความยุ่งยากบวกกับความขี้เกียจของมุสลิมเอง จึงทำให้เวลาออกเรือหาปลาจะไม่ค่อยละหมาดบนเรือกัน ตอนผมเรียน ร.ด.ปีสอง หลังจากครูฝึกจอมเก็บกดให้พวกเราคลุกโคลนจนเป็นที่หน่ำใจแล้ว ก็ให้พวกเราพักเที่ยงได้ เพื่อนผมส่วนใหญ่ไม่ยอมละหมาดซุฮฺริกัน “ เสื้อมันเปื้อนโคลน” พวกเขาอ้างว่าอย่างนั้นผมอธิบายว่ามันไม่ได้นาญิสสกปรกอะไร เพียงแต่ดูสะบักสะบอมไปหน่อย เรายังเอาน้ำดินมาล้างคราบน้ำลายสุนัขได้เลย แต่หลายคนก็ยังยืนยันคำตอบเดิม “เดี๋ยวค่อยไปรวมกับอัสริแล้วกัน” – ทำไมถึงเป็นแบบนี้ไปได้หว่า ก็เรียนศาสนากันมาทั้งนั้นเฮ่อ…

การตกปลากลางดึกเป็นงานบันเทิงทรหด เรามีไฟฉายแค่สองอันที่ใช้ได้ดีอันหนึ่งกับที่กำลังจะเสียอีกอันหนึ่ง วิธีใช้คือต้องเขย่าก่อนหลายครั้งกว่าจะออกฤทธิ์ เหมือนยาชนิดน้ำสำหรับเด็กเลย บางทีสายเบ็ดก็มาพันกันอีก ง่วงก็ง่วงเนื้อตัวก็เหนอะหนะ เวลาดึงสายเบ็ดมา ยังติดหินโสโครกอีกต่างหาก กว่าจะดึงมาได้ทำเอาวัยรุ่นอารมณ์เสียหลายครั้ง บางครั้งคุมตัวเองไม่ได้ ตัดสายทิ้งซะเลย… พวกเรากะจะไม่หลับกัน ช่วยกันตกปลามาเป็นกับข้าว ช่วงที่อยู่บ้านบังอุ้ม แต่ก็มีแค่บังลุกมาน บังซัลมาน และ บังฮานีฟเท่านั้นที่ตกปลาจนถึงตีสามส่วนผมและคนอื่นๆหลับไปตั้งแต่เที่ยงคืนแล้ว มาตกกันอีกที่หลังศุบหฺโน้น

“เมื่อเห็นทุกอย่างเป็นไปตามการควบคุม เขาก็ทบแหเข้ามาสามชั้นตวัดชายข้างหนึ่งพาดข้อศอกขวา มือทั้งสองข้างจีบชายแหที่เหลือเป็นลูกฟูถี่ยิบ เขาตะแคงตัวหันหน้าสู่เป้าหมายข้างหน้า กางข้อศอกออกในระดับเหนือเอวโยกร่างมาข้างหลังราวกับจะร่ายรำขณะที่สายตาจับนิ่งอยู่กับกระเพื่อมน้ำซึ่งกำลังไล่ระลอกตามกันมา ในจังหวะนั้นเอง เครื่องมือหากินอันเปรียบดังอวัยวะพิเศษก็ถูกปล่อยออกไป…”
(จากเรื่องคนหาปลา เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)

เป็นเรื่องสั้นที่ทำให้ความจำสมัยเด็กผุดมาราวกับภาพถ่ายเพราะสมัยนั้นสิ่งล่อตาล่อใจเด็กๆมีไม่มากเหมือนตอนนี้ เราไม่มีเกมส์ให้เล่น ไม่มีอินเทอร์เนตให้เปิดยูทูป ก็ได้แต่จับปลาจับสัตว์หรือแมลงมาเล่นกัน ผมเองก็อยู่ในวงการนี้มานานจึงพบว่าอาชีพคนหาปลาเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยโชค(อันเป็นตักดีรจากอัลลอฮฺ) ต้องผูกตัวเองกับปัจจัยธรรมชาติ น้ำขึ้นน้ำลง ลมพายุ ความแปรปรวนของท้องทะเลทำให้มีเรื่องชีริกอยู่มากในวงการนี้ เช่น อย่าข้ามขันเบ็ดเดียวปลาจะไม่ติดเบ็ด ต้องเริ่มจับปลาตัวใหญ่ก่อน ถ้าหากได้ปลาเล็กก่อนวันนั้นก็ซวยไป ถ้าเป็นเรือประมงชายหาด หัวเรือทุกลำจะมีผ้าหลากสีผูกไว้เพื่อกราบไหว้หัวเรือหรือแม่ย่านาง บ้างก็ผูกไว้เพื่อความสวยงามเท่านั้น

เรือเราเคลื่อนออกมาจากเกาะหินปูน เปลี่ยนที่ตกปลาจากที่เดิมไปยังที่ใหม่ระหว่างทางมีอะไรบางอย่าง รวมตัวกันเป็นกองใหญ่ดูแข็งแกร่งและน่าเกรงขามยิ่งนัก พอเรือเข้าไปใกล้ มันกลับเป็นฟองน้ำสีส้มขนาดใหญ่ที่เกาะกลุ่มกันลอยไปลอยมากลางทะเลที่เวิ้งว้างไร้ซึ่งจุดยืนของตัวเอง เรากลับมาพักที่บ้านบังอุ้ม แต่ความมึนก็ยังโคลงเคลงอยู่ในหัว แม้จะนอนพักอีท่าไหนก็ยังไม่หาย บังยาเพื่อนบังอุ้มบอกว่า

“มึงเมาเรือแหล้ว เท่าแต่หว่ามึงไม่ราดหรอก (แค่ว่าไม่อาเจียนออกมา)” แกบ่นออกมาอย่างไม่สบอารมณ์ แต่ผมว่าผลที่ได้มันคุ้มค่า ทำให้เราไม่ต้องซื้อกับข้าวไปหลายมื้อ ชีวิตที่ไม่มีรายจ่ายเหมือนบรรพบุรุษเริ่มปรากฏเป็นแสงวูบวาบอยู่กลายๆ

พลบค่ำหลังอิชาอ์ บังอุ้มพาพวกเราไปกินโกปีน้ำชาตามร้านที่มีมากมายบนเกาะ เพราะคนที่นี้เขากินโกปีเป็นชีวิตจิตใจ ถ้าเป็นตอนเช้าๆมักจะทักทายกันว่า “ กินโกปีแหล่วหม้าย” เมื่อเด็กเสิร์ฟน้ำมา พวกเรารีบคนน้ำในแก้วของใครของมัน ผมคนไปทางซ้ายส่วนคนที่อยู่ตรงข้ามกลับคนไปทางขวา บังอุ้มคนวนไปมาเพื่อให้น้ำตาลที่ก้นแก้วมันละลาย ผู้คนบนเกาะมีสัมพันธ์ที่ดียิ่งนัก เมือคนเฒ่าคนแก่ป่วยลงก็จะมาเฝ้าเหมือนงานบุญงานเลี้ยงเล็กๆประมาณ 20-30 คน เต็นท์จะถูกยกขึ้น ผู้คนจะนั่งดื่มโกปี พูดคุยกันถึงสุขภาพของผู้ป่วย บังอุ้มเล่าว่ายายของแกเองก็เคยล้มป่วย มีคนมาเฝ้ากันเป็นเดือน แล้วอาการของยายแก่ก็ดีขึ้นเป็นปกติ เดินเหาะ ไปไหนมาไหนได้ แล้วก็ล้มป่วยอีก บรรดาญาติมิตรก็แห่กันมาเฝ้าอีก 20-30 คน แล้วยายแก่ก็ไม่ฟื้นมาอีกเลย คงรอวันตื่นขึ้นมาอีกครั้งในวันนั้น

เช้าวันรุ่งขึ้น เราเดินเที่ยวชมเกาะ ก่อนที่จะเก็บสัมภาระยัดใส่กระเป๋าเป้ไปขึ้นเรือที่ท่า ระหว่างรอ ผมเห็นเด็กสองคนกำลังตกปลาแก่แดดอยู่ ผมเลยเข้าไปแจมด้วย เบ็ดที่เด็กใช้อยู่ขึ้นสนิม ผมเลยเอาเบ็ดใหม่ให้ เราสนุกกันซักพักก่อนรีบลาเด็กๆเดินลงเรือไป

“ โอ้โห เอ็งเล่าได้สนุกมากๆ วันหลังชวนกูไปด้วย” ยาลีทำท่าฮึดฮัดขณะเอ่ยขึ้น
“ แต่เที่ยวอย่างเดียวนะ ไม่ต้องไปตกปลา ฟังแล้วลำบาก กูไม่ชอบ”
ไม่ชอบตกปลา แต่ชอบกินปลา เอ็งมันสบายไม่รู้จักความลำบากของผู้อื่น ชีวิตเลยจืดชืดยิ่งกว่าไข่เจียวลืมใส่น้ำปลาซะอีก น่าว่าทำไมเอ็งจึงกินข้าวปลาไม่เคยเกลี้ยงจานเสียที… แชแวพึมพำในใจ
“ อืม ไปเที่ยวเมื่อไหร่ แล้วจะบอกเอ็งอีกที” แชแวตอบ

แล้วชายสองคนก็ลุกจากเก้าอี้ไม้ตัวเก่า คุณยายแต่งหิญาบเรียบร้อยโต๊ะข้างๆหันมายิ้มให้จนเห็นฟันขาวมีน้ำหมากติดเป็นหย่อมๆ ทั้งสองผงะชั่วขณะกับรอยยิ้มของคนที่ไม่รู้จัก เพราะในเมืองไม่เจอแบบนี้บ่อยนัก หรือคุณยายจะมาจากเกาะลิบง…

ชายสองคนจ่ายค่าชาร้อนกับโรตีเรียบร้อยก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไกลออกไปจากร้านโกปีมุ่งสู่มหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ในเขตเมือง ทว่าในห้วงคำนึงนึกคิดของเขาทั้งสองคน ยังอยู่ในดินแดนแห่งทุ่งนา ทะเล สายน้ำ และชนบทที่ผู้คนยังยิ้มแย้มอย่างจริงใจอยู่เสมอ