จดหมายลาครู

787878

จดหมายลาครู
หมีมลายู : เขียน
พิมพ์ครั้งแรก : หนังสือนิกะหฺ ‘ความรู้ในมือของความรัก’

========

(1) ทำไมผมต้องไปโรงเรียน

เรียนคุณครูที่เคารพ

ผม…เด็กชายคนเดิมที่ครูไม่รู้จัก มีเรื่องลำบากใจมากมายอยากระบายให้ครูได้รับรู้ ผมเป็นเด็กหลังห้องริมหน้าต่าง เสียงของผมอาจไม่ดังพอและเกียรติยศด้านการเรียนของผมก็ง่อนแง่น เกียรติบัตรก็ไม่เคยมีเหมือนเพื่อน มีเพียงแผ่นเดียวเป็นรางวัลชมเชยจากการแข่งวาดรูปวันแม่แห่งชาติตอน ป.2 ตอนนั้นผมดีใจแทบตาย แต่พอโตขึ้นผมจึงเรียนรู้ได้ว่าเขาให้เพราะสงสาร

จดหมายฉบับนี้ ผมเขียนขึ้นเพื่อ “เรียกร้องความใส่ใจ” ต่อระบบการศึกษา การเล่าเรียน หรืออะไรก็แล้วแต่สุดผู้ใหญ่จะเรียกให้ดูดีดูงาม แต่ครูครับ ผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่ามันคืออะไรกันแน่ ถ้าผมปลูกผักเก่ง ไว้กินเองได้ เรียกว่าผมมีการศึกษาได้ไหม หรือผมต้องรู้จักสูตรตรีโกณมิติ ใช้กล้องจุลทรรศน์เป็นเสียก่อน จึงจะถือว่าได้เป็นนักเรียน มีการศึกษาแล้ว? แต่เอาเถอะครับ ดูเหมือนข้อเรียกร้องของผมต่อไปนี้ อาจจะครอบจักรวาลไปบ้าง แต่หวังว่าครูจะเข้าใจ เพราะในหัวผมตอนนี้ มันอัดแน่นไปด้วยความคิดที่ไม่พอใจ มันสับสนและยุ่งเหยิงไปหมด ผมไม่รู้ว่าความคิดในหัวผม มันจะดีไปกว่าไอคำเหยียดหยามอย่างในหัวมีแต่แกลบหรือมีหัวไว้คั่นหูสองข้างหรือเปล่า ผมอึดอัดและไม่ชอบสิ่งที่อยู่ในหัวผมเลย มันทำให้ผมมีชีวิตแบบคนปกติทั่วไปลำบาก ยังไงก็ตาม ผมจะขอเล่าเรื่องชีวิตนักเรียนของผม ที่เต็มไปด้วยปัญหาและต้องการทางออกจากวิกฤตการณ์นี้นะครับ

ครูครับ โดยไม่ต้องถามอะไรมาก ผมยอมลุกขึ้นจากเตียงนอน หลังจากที่แม่เดินเข้ามาปลุก ที่จริงผมอยากถามแม่มาก ว่าแม่ต้องการอะไรจากการปลุกผมไปโรงเรียน แต่ผมกลัวครับ ผมได้แต่เดาเอาว่าถ้าแม่เป็นคนรวย แม่คงอยากให้ผมไปเรียนเพื่อชัยชนะในอนาคตที่จะได้เป็นเจ้าคนนายคนและเรียนรู้ที่จะสะอิดสะเอียนคนจนที่ลากแก้วใบเก่าๆขอทานบนสะพานลอย แต่ถ้าแม่เป็นคนจน แม่ก็คงต้องการจะให้ผมได้เท่าเทียมกับลูกคนรวยบ้าง ซึ่งแม้ว่าท่านจะไม่มีทางรู้เลยว่าเราไม่มีวันเท่าเทียมกันก็ตาม

ผมมีความรู้สึกว่า ‘การศึกษา’ มันถูกออกแบบมาให้คนในสังคมที่อยู่ชนชั้นนำมากกว่า ให้พวกเขามีความรู้ ทักษะ เพื่อรับตำแหน่งอันมีเกียรติและมีหน้ามีตาในสังคมต่อไป ส่วนคนจนที่ไปโรงเรียนด้วยนั้น ก็เพียงเพื่อปะฉุนค่าใช้จ่ายของโรงเรียน ผ่านค่าเทอมและอุปกรณ์การเรียน ช่วยคนรวยอีกแรงหนึ่ง และสุดท้ายเมื่อหมดหน้าที่ ก็คือช่วงเวลาเดียวกับที่พวกเขาถูกวัดความเก่ง ความถูกต้องและความดีงาม ผ่าน ‘0’ ‘ร’ ‘ความโง่’ และ ‘ความไม่ทันเพื่อน’ สุดท้ายพวกเขาก็จะต้องออกไปจากระบบ ถือเป็นที่สิ้นสุดกระบวนการคัดสรร ซึ่งเอามิตรภาพระหว่างวัยเยาว์ของเด็กๆ ที่เริ่มจากความบริสุทธิ์ ความไร้เดียงสา ไม่รู้จักการแข่งขัน ไม่รู้จักการเป็นที่หนึ่ง เป็นเครื่องสังเวยของระบบและหลักสูตร กว่าพวกเขาจะรู้ตัว ก็อีกนานนมและขึ้นกับว่าเด็กคนหนึ่งจะมีความกล้าที่จะคิดเองเป็นเมื่อไร

ครูพอจะเดาออกนะครับ เมื่อผมพูดถึงคนจน ผมไม่ได้หมายถึงคนชั้นกลาง แต่หมายถึงคนจนจริงๆ ที่พ่อแม่เขาต้องหาเช้ากินค่ำ ครูครับ ที่สุดแล้ว คนรวยก็จะเดินทางสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งมีค่าบำรุงเยอะมหาศาลจากภาครัฐมากกว่าโรงเรียน คนจนจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปในสถาบันประเภทนี้ ขณะเดียวกัน มายาคติของคำว่า ประชาธิปไตย,ความเท่าเทียมกัน และค่านิยมที่ว่า “งานใช้สมองมีเกียรติกว่างานใช้กำลัง” ก็เป็นตัวประคองวิกฤตนี้ไว้ในความไม่รู้ทันของผู้คน พ่อแม่ของลูกที่ยากจนต่างก็คิดเพียงว่า ลูกตนได้เข้าโรงเรียนก็นับว่าบุญแล้ว ทั้งที่จริง ยังไงก็ต้องเสียเปรียบคนรวยอยู่วันยังค่ำ (แม้จะเรียนห้องเดียว โต๊ะข้างๆกันก็ตาม) เพราะสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่นอกโรงเรียนที่การเอื้อสู่การเป็นเลิศนั้นต่างกันลิบลับ และนี่คือ “ความไม่เท่าเทียมแบบซ่อนเร้น” ไงครับ มันถูกแอบซ่อนอยู่ในสังคม ในหัวคุณพ่อคุณแม่และในหัวคุณครูเอง ซึ่งถูกคิดค้นผ่านพวกมีการศึกษาในอดีต ที่เป็นคนรวยหรือชนชั้นนำมาก่อน ครูครับ คนจนนั้นช่างน่าสงสาร พวกเขาหลงคิดไปเองเสมอว่าความซื่อสัตย์และความซื่อตรง จะช่วยพวกเขาได้ตลอดฝั่ง พวกเขาเป็นแพะผู้น่าสงสาร ที่คิดว่าสุนัขจิ้งจอกซึ่งกำลังหิวโหยนั้น จะดูแลลูกๆของพวกเขาได้

(2) ระเบียบวินัยและความกลัวในโรงเรียน

ครูครับ กิจวัตรประจำวันหลังตื่นนอน ผมอาบน้ำแปรงฟัน และแต่งชุดนักเรียนที่เหมือนกับเพื่อนอีกร้อยกว่าคนใส่ จากนั้นก็รีบจ้ำอ้าวไปโรงเรียนเพื่อให้ทันเคารพธงชาติแปดโมง และยืนตรงตากแดดหน้าเสาธงเพื่อรับฟังคำพูดอันน่าเบื่อหน่ายของพวกผู้ใหญ่ที่จับกลุ่มอยู่ในที่ร่ม ข้างๆผมมีพวกคุณครูที่ทำหน้าเย็นชา เดินไปเดินมา คอยดูว่าคอของผมตรงกับคนข้างหน้าไหม จากนั้นพวกเขาก็จะกวาดสายตาลงมาข้างล่างว่าพวกผมใส่รองเท้าแตะหรือเปล่า หัวเข็มขัดล่ะ มีตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนไหม กระเป๋าด้วยของโรงเรียนหรือเปล่า ผมบนหัวล่ะ เรียบร้อยไหม ถ้าสั้นเรียบร้อย ถ้ายาวถือว่าไม่เรียบร้อย—กรรไกรในกระเป๋าพร้อม…

เด็กผู้หญิงก็จะถูกจ้องใบหน้า แต่งหน้าทาปากหรือเปล่า แก่แดดไปมั้ย นี่ครูเหล่านี้ไม่ดูตัวเองเลยหรอครับ พวกเขาแต่งหน้าทาปากซะจนความจริงบนใบหน้าหายไปหมด ทิ้งไว้แต่คราบแป้ง ครีมหนาๆและขี้ไคล้

ผู้ใหญ่หน้าเสาธงก็ยืนพูดเรื่องเดิมๆให้เด็กทุกคนเป็นเด็กดีของพ่อแม่ เคารพคุณครู เป็นคนดีของสังคม เขาท่องจำคำพูดเหล่านี้มาหมดแล้ว และอะไรอีกมากมาย จากนั้นเขาก็จะหายไปทั้งวัน ผมจะพบเขาได้ในห้องแอร์ซึ่งเป็นห้องพัก และช่วงพักเที่ยงที่โต๊ะกินข้าวสำหรับคุณครู ใช่! สำหรับคุณครูเท่านั้น จากนั้นกิจกรรมหน้าเสาธงก็ดำเนินต่อไปเช่นทุกวัน เป็นช่วงเวลาที่แสงแดดอาบไปด้วยวิตามินและร่างกายที่เปี่ยมไปด้วยพละกำลัง แต่เรากลับต้องมายืนแข็งทื่อเป็นตอไม้ รอให้พิธีทั้งหมดเสร็จสิ้นลง สุดท้ายคุณครูก็จะพูดใส่ไมค์ ให้นักเรียนเดินเข้าห้องเรียนอย่างเป็นระเบียบนะค่ะ นะครับ..

ระเบียบวินัยคืออะไร ผมอยากถามครู แต่ผมกลัว ผมเดาเอาว่ามันคือการที่เด็กๆถูกสั่งให้ทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ แล้วก็ไม่ให้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ และถ้าไม่เชื่อจะถูกทำโทษ ผมและเพื่อนๆพูดคุย เดินเข้าห้องเรียนอย่างสนุกสนานและมีความสุข เมื่อผมนั่งลงไม่นาน คุณครูจะเข้ามาและบอกว่า “เงียบ!” หัวหน้าชั้นจะยืนขึ้นและบอกให้ทุกคนทำความ ‘เคารพ’ คุณครู ทุกคนเงียบและยืนตรงทำความเคารพ ความสนุกและความสุขหายไปแล้ว ผมไม่ทราบว่าครูหรือเพื่อนๆผมเคยถามตัวเองไหม ว่าที่ยืนตรงให้นั้น เพราะความ ‘เคารพ’ หรือ ‘ความกลัว’ กันแน่ และแน่นอนครับครู ผมหมายถึงพิธีกรรมการยืนตรงเพื่อให้การเคารพธงชาติด้วย

การศึกษาไทยยังคงมึนตึบกับความหมายของ ‘คนดี’ –คนไม่ดีนะครับ ไม่ใช่คนที่ไม่ยืนตรงเมื่อเพลงชาติดังขึ้นและเมื่อคุณครูเดินเข้ามาในห้อง แต่คนเหล่านี้คือคนฉลาดที่คิดเองเป็นและใคร่ครวญต่อการกระทำของตัวเองอยู่เสมอ ทำไมเขาต้องยืนและยืนเพราะอะไร ผมว่าความโง่น่ะ มันจะเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มกลัว ความกลัวจะทำให้สติปัญญาของเขาขณะนั้นหยุดชะงักและการทำตามผู้อื่นอย่างหูหนวกตาบอดจะเข้ามาแทนที่

ความกลัวคืออะไรครับครู ทำไมผมถึงกลัวต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ผมกลัวแม่ กลัวคุณครู ทำไมผมถึงต้องกลัวคุณครู ทำไมผมถึงต้องหลบหน้าครูใหญ่ แต่ทำไมกับคุณลุงภารโรงที่อยู่บนเพิงพักหลังโรงเรียน ผมจึงไม่มีความรู้สึกแบบนี้เลย ไม่ใช่ว่าคุณครูถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นมิตรกับนักเรียนหรอกหรือ แล้วลุงภารโรงไม่ได้เป็นมนุษย์เหมือนครูใหญ่ใช่หรือไม่ เมื่อเวลาพักเที่ยงเริ่มขึ้น ทำไมคุณครูทุกท่านถึงไม่กินข้าวร่วมโต๊ะกับพวกเราละครับ ผมอยากให้พวกเขามานั่งกินข้าวกับเรา อยากให้คุณครูเป็นคุณครู เป็นเพื่อน เป็นพี่ชาย และเป็นพี่สาวของพวกเรา อยากให้เป็นคนที่จะอยู่เคียงข้างเรา ไม่ใช่จะออกมาเจอพวกเราเฉพาะตอนคาบเรียน นอกนั้นก็หลบอยู่ในห้องพักครู เราห่างเหินเกินไปไหมครับ คำว่า ‘คุณครู’ คืออะไรกันแน่

ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของพ่อ ชื่อ ‘ความรู้ในมือของความรัก’ เขียนโดยเบอร์ทรันด์ รัซเซลล์ เขาว่า “ครูที่มีทักษะนั้นหายาก เพราะเราคัดครูจากความเชื่อที่ยึดติดในคุณค่าของสิทธิบัตรหรือใบอนุญาตในวิชาชีพ แม้จะฟังดูมีเหตุผลในหมู่คนที่ยึดมั่นในระบบโรงเรียน แต่การสอบใบประกอบนั้น มันวัดกันไม่ได้และมันสร้างมนุษย์ออกมาไม่ได้” ผมจึงสนใจกับข้อความหนึ่งมากครับ มันอยู่ในใบประชาสัมพันธ์รับสมัครครูของโรงเรียน ‘ลำปลายมาศพัฒนา’ จ.บุรีรัมย์ ที่คัดครูจากความรอบรู้ ความรักในการเป็นครู รัก (ความเป็น) เด็ก และการพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ และไม่ต้องมีใบอนุญาตในวิชาชีพอะไรทั้งนั้น ครูครับ ผมคงไม่ต้องบอกว่าโรงเรียนนี้ดีแค่ไหน สำหรับโรงเรียนเรา ผมคงไม่หวังอะไรมากไปกว่เลิกยุ่งกับทรงผมบนหัวผมก็ดีมากแล้ว แต่ครูคงไม่กล้าที่จะไปพูดกับครูใหญ่ ผมเข้าใจครับ เพราะครูก็เคยเป็นนักเรียนและผ่านระบบที่ผมกำลังถูกบังคับให้ยอมรับอยู่นี่เหมือนกัน เราต่างก็หวาดกลัว ถูกสอนให้อยู่นิ่งๆ และให้เก็บความไม่พอใจเอาไว้ แล้วเราก็จะปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อหนทางข้างหน้าในการรับสิ่งตอบแทนจากสังคมได้ง่ายขึ้น หรือพวกเราต่างก็เป็นเครื่องมือ อย่างที่นิโคลัส เบนเนต (Nicholas Bennett) พูดไว้ว่า “โรงเรียนเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จที่ควบคุมทัศนคติคนได้ ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ จึงเป็นสิ่งที่คนกลุ่มหนึ่งต้องการ (เช่นพวกผู้ปกครองที่ต้องการให้ประชาชนโง่และควบคุมง่าย) หรือคนที่คิดว่าตนเองต้องการ (คือประชาชนที่ถูกหลอกให้เชื่อตาม)”

ไอวาน อิลลิช (Iván Illich) ยังตอกย้ำความจริงนี่อีกว่า “โรงเรียนก็คือบริษัทโฆษณาที่จะทำให้เราเชื่อว่าสังคมมันต้องเป็นแบบนี้แหละ”

ครูคิดว่าไงครับ ผมไม่ได้แก่แดดนะครับ ผมก็ลอกข้อความมาจากพวกหนังสือฝรั่งมานั่นแหละ

(3) สร้างเด็กให้โตขึ้นเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และมีจิตใจอันงดงาม

เอาเถอะครับ ต่อให้ผมไม่ได้เจอครูในช่วงอื่นๆ ผมก็จะได้เจอครูแน่นอนในคาบเรียนช่วงบ่าย เสียงกริ่งเป็นสัญญาณบอกว่า อีกสักครู่นักเรียนจะได้เจอกับคุณครู ขอให้นั่งอยู่กับที่ให้เรียบร้อย และเตรียมตัวยืนทำความเคารพเหมือนเมื่อตอนเช้า กิจกรรมอันน่าเบื่อหน่ายมันหมุนเวียนอยู่ในชีวิตพวกผมแบบนี้ละครับ ผมนี่เบื่อและแสนจะอึดอัดจนแทบจะอ้วกออกมาเป็นความเครียด ที่จะต้องมาทำในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างนี้ทุกวัน พวกผมเหมือนลิงน้อยผู้จมปลักอยู่กับความกลัวที่ไม่รู้ที่มา

ครูเคยอ่านการทดลองทางจิตวิทยาพฤติกรรมอันนี้ไหม นักชีววิทยาได้เอาลิงธรรมดากลุ่มหนึ่งมาอยู่ในห้องที่มีเพียงบันไดตัวหนึ่งและมีกล้วยหวีหนึ่งอยู่บนนั้น พอลิงตัวหนึ่งขึ้นไปหยิบกล้วย จะมีน้ำฉีดลงมาจากเพดาน ทำให้ตัวที่เหลืออยู่ข้างล่างต้องเปียกหมด ลิงตัวนั้นจึงต้องลงมาและเมื่อตัวอื่นๆจะขึ้นไปเอาบ้าง ก็จะถูกตัวที่เหลือส่งเสียงโอ๊กอ๊ากหักห้าม (เด่วพวกฉันจะเปียกเอาได้) เวลาผ่านไปอย่างเงียบเฉียบ กล้วยจึงยังอยู่ที่เดิม ต่อมานักวิจัยปล่อยลิงอุรังอุตังเข้ามาในห้อง ไม่พูดพล่ามทำเพลง มันเตรียมตัวจะรีบปีนขึ้นบันไดเมื่อมันเห็นกล้วย แต่แล้วลิงธรรมดาชุดก่อนก็ส่งเสียงโอ๊กอ๊ากๆเช่นเคย อุรังอุตังน้อยจึงลงมาอย่างว่านอนสอนง่าย กาลผ่านไปนานพอได้ นักวิจัยพาลิงอีกชนิดเข้าไป แล้วทุกอย่างก็เหมือนเดิม สุดท้ายลิงทุกชนิดก็นั่งลง ในสภาพที่อดอยาก ไร้เรี่ยวแรง –สังคมเราก็แบบนี้เหมือนกันไหมครับ เรารู้ว่ามีสิ่งที่ไม่ดีซึ่งคอยควบคุมเราอยู่ แต่ก็ไม่มีใครกล้าที่จะไม่พอใจและลุกขึ้นพูด จะมีก็แต่คนรุ่นเก่า หรือพวกที่อ้างว่าอาบน้ำร้อนมาก่อนเท่านั้น ที่เอาแต่ห้ามคนรุ่นใหม่ทำนั้นทำนี้ คนรุ่นใหม่ก็หวาดกลัวทั้งที่ไม่รู้ที่มาที่ไปของคำสั่งห้ามเลยด้วยซ้ำ

คนรุ่นแรกรู้ว่าปัญหาคืออะไร คนรุ่นต่อมาปกปิดว่าปัญหาคืออะไร แต่กลับรักษาความกลัวที่มาจากปัญหานั้นแล้วส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ที่ขี้เกียจอ่านหนังสือและการค้นคว้าถึงประวัติศาสตร์ สุดท้ายเราก็พร้อมใจกันจมปลักอยู่ในโคลนตมแห่งอารยธรรมแบบนี้แหละ

รัซเซลล์ ยังกล่าวว่า การศึกษาที่แท้จริงที่คุณครูควรจะมอบให้เด็กนั้น ควรเป็นการศึกษาที่จะทำให้เด็กมันกล้าคิดเอง กล้าวิพากษ์ระบบและสถานการณ์ต่างๆในโลกนี้ ให้เขาได้เห็นเรื่องร้ายๆในประวัติศาสตร์ สอนให้เขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันขัดขวางความก้าวหน้า และจะมีมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่จะเอาชนะความโหดร้ายด้วยความรู้ ให้เขาเห็นว่าชาตินิยม การแบ่งแยกสีผิว และการขัดแย้งเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่โง่เขลาเบาปัญญา เรื่องสงครามก็ใช่ครับครู ให้เขาได้รู้ว่าในสงครามไม่มีใครชนะ แต่คนที่มีจิตใจงดงามและทำให้สงครามไม่เกิดต่างหากคือวีรบุรุษ ให้เขาได้เห็นเด็กชายที่ซูบผอมรอวันตาย แล้วถามเด็กๆของเราสิว่า รู้ไหมทำไมเขาต้องเป็นแบบนี้ อธิบายให้เขารู้ไปเลยว่า ใครทำให้เพื่อนเราที่อยู่คนละทวีปคนนี้ต้องรอวันตายบนตักแม่อยู่แบบนี้ เล่าไปสิครับว่ามนุษย์สามารถทะเยอทะยานขึ้นไปบนอวกาศแต่ไม่สามารถและไม่สนใจใยดีเพื่อนมนุษย์อีกกลุ่มที่ไม่มีแผ่นดินอยู่ ไม่มีผืนทรายที่สามารถเหยียบได้อย่างปลอดภัย ต้องระเห็จเร่ร่อนอยู่บนเรือกลางมหาสมุทร กินแสงอาทิตย์ทางผิวหนัง ดื่มน้ำทะเลแก้กระหาย ให้เขาได้เรียนรู้ครับ ว่านี่ไม่ใช่สัตว์ที่กินอาหารผ่านการแพร่ทางผิวหนังหรือพืชที่สังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหารอะไรๆทั้งสิ้น นี่คือมนุษย์เหมือนเขา ให้เขาได้ท่องจำคำว่า ‘โรฮิงญา’ ทุกวัน เหมือนกับที่พวกเขาต้องท่องสูตรคุณและกาพย์กลอนต่างๆสิครับ ครูครับ เราจะสร้างเด็กให้โตขึ้นเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และมีจิตใจอันงดงามได้ยังไง? นี่คือหัวใจของการศึกษาครับ

ผมไม่ได้แก่แดดและไม่ได้มีปัญหากับครู ผมแค่ลอกมาจากหนังสือฝรั่งในห้องสมุดโรงเรียนเรานี้ละครับ หวังว่าครูคงจะได้อ่านมาหมดแล้ว ผมเพียรดูว่าเขาพูดและคิดอะไร และเพียงอยากระบายให้คนสักคนได้รู้ถึงความอึดอัดในช่วงชีวิตของการเป็นนักเรียน อย่างน้อยนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผมขี้เกียจไปโรงเรียน ใช่ครับ ครูอาจจะแสยะยิ้มแล้วคิดว่า ผมอ้างอะไรๆแค่ให้มันดูดีก็ได้ ครูอาจจะคิดว่าผมคงกำลังนั่งเล่นเกม โดดยางกับน้องสาววัยก่อนเข้าเรียน หรือกำลังนอนซมทำเป็นไม่สบายก็ได้

(4) ขอกลับไปเป็นมนุษย์อีกครั้งที่ชนบท

แต่ผมอยากบอกครูครับ ว่าผมได้เรียนรู้และอ่านหนังสือดีๆมากมายกว่าช่วงเวลาที่ผมอยู่ในโรงเรียนเสียอีก โลกนี้คือห้องเรียนของผม คุณยายที่นั่งขอทานบนสะพานลอย คุณลุงขายไข่ปิ้ง กรรมกรที่สร้างบ้านสวยๆให้คนอื่นแต่ตัวเองมีบ้านหลังโทรมๆอยู่ หรือแม้กระทั่งเด็กๆวัยเรียนที่วิ่งเล่นอยู่ในทุ่งนา มีพ่อแม่ชาวนา นั่งยิ้มและเตรียมสำรับข้าวเที่ยงอยู่บนแคร่ใต้ร่มไม้ คนเหล่านี้คือครูของผม พวกเขาสอนวิชา ‘การเป็นมนุษย์’ ซึ่งผมเห็นความสำคัญของมันทันทีเมื่อได้เห็นพี่ชายนั่งเรียนเรื่อง พันธุศาสตร์อันน่าปวดหัว การค้นพบอนุภาคฮิกซ์ โบซอน หรืออนุภาคพระเจ้าที่ว่ากันว่าเล็กกว่าโปรตรอน-นิวตรอน และเป็นอนุภาคเริ่มต้นของจักรวาล

ครูครับ นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลากว่า 40 ปี จึงได้ค้นพบอนุภาคนี้ แต่พวกเขาและชาวโลกไม่สามารถแม้เพียงจะรวบรวมอาหารส่งไปให้คนแอฟริกาที่กำลังอดอยาก กินหญ้าดื่มเยี่ยมวัวอยู่นั้น ให้อิ่มท้องแม้แต่หนึ่งวันยังไม่ได้เลย เป็นเพราะอะไรหรือครับครู ? คุณครู ดอกเตอร์ ศาสตราจารย์ สถาบันการศึกษาไหนบ้างครับ ที่จะให้คำตอบแก่ผมได้

ครูครับ อันที่จริงผมกลัวนิดหน่อยที่จะส่งจดหมายนี้ให้ครู ครูกำลังทำหน้าที่สำคัญอยู่นะครับ ผู้ใหญ่คนหนึ่งเมื่อเขาโตขึ้นมาจะเลวจะดียังไง ก็อยู่ที่อุปนิสัยที่จะถูกสั่งสอนผ่านคุณครูหรือผู้ใหญ่ทุกคนที่เขาพบเจอและได้สัมผัสมาตอนที่เขายังเด็กนั่นแหละ มิใช่หนังสือเรียนที่เขาได้อ่าน เมื่อเขาโตพอจะเลือกหรือจะปฏิเสธได้แล้ว สิ่งเหล่านี้มันมีอิทธิพลน้อยมากครับครู เพราะถ้าเขาถูกดูแลมาด้วยบรรยากาศหรือวิธีการที่ไม่ดีตั้งแต่เด็กเสียแล้ว เมื่อเขาโตขึ้นพร้อมกับความรู้และสติปัญญาในการเลือก เขาก็พร้อมที่จะเลือกความเลวผ่านข้ออ้างหรือความชอบธรรมต่างๆได้อย่างแนบเนียน เหมือนปัญหาต่างๆที่เกิดมาบนโลกใบนี้ อย่างการสร้างความเป็นชาติพันธ์ สีผิว เขตแดน การเกณฑ์ทหาร สงครามอันโหดร้ายทารุณรวมถึงระเบิดปรมาณู ก็ล้วนถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้ใหญ่ที่ไม่มีและมีการศึกษาทั้งนั้นนี่ครับ

เรื่องทั้งหมดนี้ ผมกลัวที่จะพูดกับครูใหญ่ ชายที่ผมเห็นเขาได้แค่เฉพาะช่วงเช้าหน้าเสาธงและในห้องพักรมแอร์ของเขา แต่ผมมีความหวังลึกๆในตัวครูนะครับ ถ้าครูกำลังถือจดหมายนี่อยู่ ผมอยากให้ครูเอามันไปให้ครูอีกคนได้อ่านด้วย และหวังว่ามันจะถูกอ่านจากครูคนอื่นๆต่อไปๆ ผมเป็นเด็กหลังห้อง ไม่ได้รู้จักครูมากนัก ชื่อจริงผมยังไม่รู้เลยนี่ครับ แต่เมื่อผมรู้สึกดีและไม่กลัวเมื่อต้องอยู่ใกล้ แค่นี้มันก็เพียงพอแล้วที่จะยืนยันได้ถึง ‘จิตวิญญาณครู’ ที่มีอยู่ในตัวคุณครู

สุดท้ายนี้ ผมขออนุญาตครู ที่จะลาเรียน ลาคุณครูแบบเก่าๆ ผมขอลาออกจากการเป็นนักเรียนและจะกลับไปเป็นมนุษย์อีกครั้งที่ชนบทบ้านเกิดของผม ถึงแม้ระบบทุนนิยมจะทำให้พี่น้องของผมแตกกระเซนเข้าไปอยู่ในเมืองหมดแล้วก็ตามเถอะ จนกว่าโรงเรียนแบบเก่าจะตายไป ผมจึงจะกลับมาเรียนอีกครั้งครับ

ด้วยรักและหวัง
เด็กหลังห้องริมหน้าต่าง

ความรู้ในมือของความรัก

1

เขียนโดย | เพื่อนๆ นักอยากเขียน
จัดทำโดย | ชมรมช่างทำหนังสือ

>>Download<<

-สารบาญ-

แด่ครูทั้งสอง / Phacus
ปรัชญาการศึกษาที่หายไป / อับดุลมาลิก มูเก็ม
นี่คือครู! / คุณครู ขนมปัง
สอนรักด้วยอิสลาม / นูรุลอิลมฺ
ทั้งหลายคือครู / กูอาอีชะหฺ
บันทึก 1 บรรทัด / นูรุดดีน
มหัศจรรย์ของชีวิต / มะวัดดะฮฺวะเราะมะฮฺ
ครูคนแรก / ศิษย์คนกลาง
คิดต่างไม่ใช่อาชญากรฯ / คุณครู ขนมปูด
คิดเปลี่ยนแปรง จึงเปลี่ยนแปลง / ผีเสื้อขยับปีก
การศึกษาตลอดชีวิต / ชาวถ้ำ
ตัวแบบที่ต้องสร้าง / นายบริสุทธิ์
ครูผ้าขาว / อิบนุซาการีย์ยา
ต้นยาง สั่ง สอน / เจ้าชาย
ครูดี-ศิษย์นำรัก / ญาร มัญจ์รูร
แผนครอบครัว / กระหมํอม
จดหมายลาครู / หมีมลายู

-คำนำ-

นับตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ และสุดท้ายก็แอบหาเวลาว่างร่วมกับเพื่อนๆเป็นช่างทำหนังสือในวันนี้ มีเรื่องน่าแปลกอยู่เรื่องหนึ่งในวงการหนังสือมุสลิมไทย นั่นคือการขาดแคลนงานเขียนเชิงลึก ที่พูดถึง “ระบบการศึกษา โรงเรียน คุณครูและเด็กนักเรียน”ในมุมมองของอิสลาม

จริงอยู่ เราทุกคนต่างยอมรับว่าการศึกษาคือทางออกของปัญหาต่างๆในสังคม แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นการยอมรับที่บิดเบี้ยวพอสมควร เพราะในความเป็นจริงนั้น การศึกษาแบบที่เราเข้าใจ ซึ่งแบ่งชั้นแบ่งวิชาและมอบเกียรติยศเมื่อผ่านระดับชั้นต่างๆนั้น ไม่ใช่การศึกษาที่แท้จริงและเป็นได้แค่เครื่องมือหนึ่งที่สนิมจับซึ่งเราพยายามจะเอามาแก้ปัญหาต่างๆในโลก ดังนั้นเมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งที่ชื่อ ‘ตุ๊หล่าง’ 1 ตัดสินใจเลือกที่จะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่กลับศึกษาด้วยตัวเองและวางแผนอย่างจริงจังที่จะแก้ไขความลำบากของพี่น้องชาวนาที่เกิดจากหนี้สินต่างๆจากเกษตรกรรมตามนโยบายรัฐ ตุ๊หล่างได้เพาะพันธุ์ข้าวท้องถิ่นในอดีตซึ่งมีคุณภาพขึ้นมาใหม่ ทดแทนข้าวหอมมะลิที่อ่อนแอของรัฐบาลซึ่งต้องให้อาหารด้วยปุ๋ยเคมีจากบริษัทต่างๆในระบบทุนนิยม ไม่ถึงสิบปีเครือข่ายชาวนาคุณธรรมของเขา ก็พลิกฟื้นเกษตรกรรมของภาคอีสานให้กลับมาชุ่มชื่นอีกครั้งหนึ่ง เป็นงานที่นักวิชาการในกรมการข้าวยังทำไม่ได้

ถ้าเอาชายหนุ่มซึ่งสร้างคุณประโยชน์มากมายให้มนุษย์คนนี้ มาวางไว้กลางวงคน “มีการศึกษา” จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่สังคมทั่วไปภูมิใจหนักหนา ก็คงต้องใช้เวลาพอควรที่สังคมนี้จะพูดได้เต็มปากว่า ตุ๊หล่างก็มีการศึกษาและเป็นปัญญาชนเหมือนกัน นั้นเพราะเขาไม่ได้ผ่านกระบวนการและลำดับขั้นเพื่อให้ได้ “มีการศึกษา” แบบที่เราทึกทักเอาเองอยู่คนเดียวว่าใช่…นั่นเอง

การศึกษาของตุ๊หล่าง ไม่สามารถทำให้เขามีเกียรติบัตรติดผนังบ้านเหมือนคนอื่นเขา แต่สิ่งที่เขาได้เรียนรู้มาตลอดนั้น กลับทำให้เขามีจิตใจที่งดงาม ฉลาดเฉลียว และศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพุทธปรัชญา ฉะนั้น เราเองในฐานะมุสลิมคนหนึ่ง จึงควรจะหันมาถามตัวเองบ้างก็ดี ว่าอะไรคือการศึกษาที่แท้จริงสำหรับเรา? และเราจะได้มันมาจากไหน?

“ความรู้ในมือของความรัก” เป็นหนังสือว่าด้วยการศึกษาที่พูดถึงเรื่องราวต่างๆในโรงเรียน ในบางแง่บางมุมที่ถูกมองข้ามไป อันได้แรงบันดาลใจจากหนังสือวิพากษ์การศึกษาหลายๆเล่ม โดยเฉพาะของเบอร์ทรันด์ รัซเซลล์  นักการศึกษาชาวอังกฤษที่มีชื่อเช่นเดียวกับหนังสือเล่มนี้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเนื้อหาภายใน แม้จะมีช่วงคลื่นที่หนักและเบาสลับสลัวกันไปบ้าง จะทำให้ผู้อ่านได้แง่คิดคำนึงบางอย่างที่จะนำไปสู่การจ้องมองโรงเรียน คุณครูและเด็กนักเรียนในสังคมของเราอีกครั้งว่ายังสบายดีอยู่อีกหรือเปล่า

ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนคุณพ่อ-คุณแม่ที่คอยเลี้ยงดูคู่บ่าวสาวด้วยความรัก คุณครูผู้ประสาทวิชาความรู้ ขอบคุณมิตรภาพจากญาติๆและผองเพื่อนที่เดินเข้ามาในชีวิต ขอบคุณพี่น้องทุกท่านที่สละเวลามาเพื่อเป็นเกียรติและสักขีพยานในวันนี้ ขอทุกท่านอย่าลืมเราทั้งสองในดุอาอ์ และเหนือสิ่งอื่นใด ต้องขอชูกูรต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ต่อกำหนดการทุกๆอย่างแห่งชีวิตนี้ อัลหัมดุลิลลาหฺ

แทนเจ้าภาพ
ซอฟวัน – รอฮานี
23 มีนาคม 2556

1.รางวัลคนนอกกรอบ รายการคนค้นฅน

*”ความรู้ในมือของความรัก” (อัลหิบบุ ฏอริกุล อิลมฺ)
(ตั้งชื่อตามหนังสือของเบอร์ทรันด์ รัซเซล นพ.สันต์ สิงหภักดี แปล)