กินเลี้ยงบ้านคนตาย‬ และการฉวยโอกาสของโต๊ะครู‬

1121212

ที่มาที่ไปที่ต้องขุดเรื่องนี้มากล่าวอีกครั้งก็คือหนึ่ง ผู้เขียนเพิ่งขับรถกับหลานผ่านงานศพของต่างศาสนิกซึ่งกำลังจัดงานกินเลี้ยงบ้านคนตาย แล้วเด็กก็ถามว่าทำไมงานศพเขาเลี้ยงข้าวด้วย? และสอง ไม่นานมานี้ บังเอิญไปเห็นโพสต์ของคุณ Ahmadrashidi Al Ashari ที่บอกว่ากินเลี้ยงบ้านคนตายนั้นเป็นแบบอย่างของท่านนบี? ครับ, คิดว่าเรื่องนี้ยังมีคนไม่รู้อีกมาก หรือที่รู้ว่าทำไม่ได้ก็ถกเถียงไม่ถูก ต่อไปนี้ เวลาเห็นคนศาสนาอื่นเขากินเลี้ยงบ้านคนตาย แล้วดันมีโต๊ะครูบอกว่าถึงจะตรงกับศาสนาอื่นแต่เรามีหลักฐานให้ทำ? จะได้อธิบายได้ถูกนะครับ

ก่อนอื่นให้เราอ่านหะดีษเศาะหีหฺสองบทนี้กันก่อน

1.) เมื่อมีข่าวการเสียชีวิตของท่านญะอฺฟัร มาถึงท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ท่านก็กล่าวว่า “พวกท่านทั้งหลายจงทำอาหารให้แก่ครอบครัวของญะอฺฟัรเถิด เพราะพวกเขามีสิ่งที่ต้องง่วนกันอยู่” (บันทึกโดย อิมาม อะฮฺมัด ในมุสนัดของท่าน (1/205), อิมาม อบูดาวุด ในสุนันของท่าน (3/497) ในบทว่าด้วยพิธีศพ เลขหะดีษ 3132, อิมาม อัตติรมิซี ในสุนันของท่าน (2/234) ในบทว่าด้วยพิธีศพ เลขหะดีษ 1003 โดยท่านกล่าวว่านี้เป็นหะดีษหะสัน, อิมาม อิบนิมาญะฮฺ ในสุนันของท่าน (1/514) ในบทว่าด้วยพิธีศพ เลขหะดีษ 1610 และ ท่าน อัลหากิม ใน ‘อัลมุสตัดรอก’ (1/372) ในบทว่าด้วยพิธีศพ…)

2.) ท่านญะรีรฺ บิน อับดุลลอฮฺ อัลบะญะลี (ร.ฎ.) (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ.51) กล่าวว่า “พวกเรา (เศาะหาบะฮฺ) ถือว่าการไปชุมนุมกันที่บ้านผู้ตาย และทำอาหารเลี้ยงกันหลังจากการฝังมัยยิตเสร็จแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของนิยาหะฮฺ (การแสดงออกถึงความเศร้าโศกอย่างรุนแรงเกินพอดี ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามตามหลักการศาสนา)” (บันทึกโดยอิมามอะฮฺมัด หะดีษที่ 6905 จากการตรวจทานของมุหัดดิษ ท่านอะฮฺมัด ชากิรฺ, และอิมามอิบนุมาญะฮฺ หะดีษที่ 1612 บทว่าด้วย ‘ห้ามการร่วมชุมนุมกันที่บ้านของผู้ตาย และทำอาหาร (ที่บ้านผู้ตาย)’ ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง ดังการรับรองของอิมามนะวะวี ในหนังสือ ‘อัลมัจญมั๊วะอฺ’ เล่ม 5 หน้า 320)

ครับ, ว่ากันว่าสิ่งที่ต้องระวังหากจะอ้างหะดีษนบีก็คือ 1-) ความถูกต้อง 2.) ความซื่อสัตย์ แต่การเป็นมุหัดดิษหรือนักตรวจสอบหะดีษสักคนนั้นไม่ง่าย โต๊ะครูหลายคนเลยชอบมักง่ายและฉวยเอามาใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะชนเพื่อบรรลุถึง ‘ความต้องการของตัวเอง’ อยู่บ่อยครั้ง บังเอิญผู้เขียนได้ไปเห็นการอ้างหะดีษเรื่อง ‘กินเลี้ยงบ้านคนตาย’ ของคุณ Ahmadrashidi Al Ashari จริงๆ ผู้เขียนไม่รู้ว่าแกเป็นใคร โต๊ะครู? นักศึกษาศาสนา? แต่ยังไงก็ตาม เห็นว่ามีคนติดตามแกเยอะ ก็น่าจะมีอิทธิพลมากทีเดียว ถ้าแกทำถูกคนมากมายก็ได้ดี แต่ถ้าแกทำผิดคนมากมายก็แย่ไปด้วยนะครับ ประเด็นในกระทู้ของแกอันนี้ก็มีหลายข้อครับ และมีลักษณะชักแม่น้ำทั้งห้ามาผสมปนเปมั่วไปหมดด้วย แต่จะเอาตามหัวข้อละกันก็คือเรื่องกินเลี้ยงบ้านคนตาย

เริ่มกันเลยนะ คือคุณ Ahmadrashidi ได้อ้างว่ามีหะดีษที่เป็นหลักฐานว่ากินเลี้ยงบ้านคนตายนั้นไม่ใช่ ‘อุตริกรรมทางศาสนา’ แต่เป็น ‘แบบอย่างของนบี’ ครับ แล้วแกก็ยกหะดีษต้นนี้มา (ผู้เขียนขออนุญาตทับศัพท์อาหรับใหม่ทั้งหมด)

(เริ่มการอ้าง)…ได้มีหะดิษที่สืบสายรายงานที่เศาะหีหฺ ได้รายงานจากท่าน อาศิม บิน กุลัยบฺ จากบิดาของเขา จากผู้ชายคนหนึ่งจากชาวอันศอร กล่าวว่า “เราได้ออกไปพร้อมกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในญะนาซะฮฺ (คนเสียชีวิตคน) หนึ่ง ดังนั้น ฉันได้เห็นท่านเราะสูลุลลอฮฺ อยู่ที่กุบูรโดยกำลังกล่าวกำชับกับผู้ขุดหลุมว่า “ท่านจงขุดช่วงสองเท้าของมัยยิตให้กว้างหน่อย และท่านจงขุดหลุมช่วงศรีษะของมัยยิตให้กว้างหน่อย” ดังนั้น ขณะที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺได้เดินทางกลับ ผู้เชิญชวนจาก (เจ้าภาพ) ของภรรยามัยยิต ได้เชิญกับท่านเราะสูล (ไปรับประทานอาหาร) ดังนั้น ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ก็ทรงตอบรับคำเชิญ โดยที่พวกเราก็อยู่พร้อมกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ แล้วอาหารก็ถูกนำมาเสริฟ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ จึงได้ยื่นมือไปรับประทานและบรรดากล่มผู้คน (เศาะหาบะฮฺ) ก็ยื่นมือไป แล้วพวกเขาทำการรับประทาอาหาร… (จนจบหะดีษ)” หะดิษนี้เศาะหีหฺ ซึ่งรายงานโดย ท่านอิมามอบูดาวูดและท่านอัลบัยหะกี รายงานไว้ใน ‘ดะลาอิล อันนุบูวะฮฺ, อ้างจากหนังสือ (หะดิษ) ‘มิชกาตุล มะศอบีหฺ’ เล่ม 3 หน้า 194 ของอิมามอัตติบรีซี ตีพิมพ์ อัลมักตับ อัลอิสลามี… (จบการอ้าง)

///วิเคราะห์และพิสูจน์หะดีษให้ถูกต้อง
ผู้เขียนจะขอยกการวิเคราะห์ของ ครูมะฮฺมูด ศรีอุทัย ใน ‘วิเคราะห์หลักฐานเรื่องการกินเลี้ยงบ้านผู้ตาย’ มาแล้วกันนะครับ คือหะดีษบทนี้เป็นที่นิยมมากครับ สำหรับผู้นิยมกินเลี้ยงบ้านผู้ตาย แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่านี่เป็นการฉวยโอกาสครั้งสำคัญของเหล่าโต๊ะครู ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าของค่านิยมบางประการในสังคมมุสลิมบางแห่งเลยทีเดียว เพราะหากเราตามฉบับภาษาอาหรับของหะดีษบทนี้ที่คุณ Ahmadrashidi ยกมานั้น ข้อความที่ว่า “ผู้เชิญชวนจาก (เจ้าภาพ) ของภรรยามัยยิต” ในฉบับภาษาอาหรับจากหนังสือ ‘มิชกาตุล มะศอบีหฺ’ ของอิมามอัตติบรีซี คือ إِسْتَقْبَلَهُ دَاعِى امْرَأَتِهِ นั้นมีปัญหาอยู่ครับ โดยมีการตรวจพบว่าสรรพนาม هِ ที่หมายถึง ‘ของเขา’ นั้น ได้ถูกนำมาเติมหลังคำว่า امْرَأَتِ ที่แปลว่า ‘ผู้หญิง’ ในตอนหลัง ทำให้แปลทั้งหมดได้ว่า ‘ผู้หญิงของเขา (ผู้ตาย)” แต่สำนวนที่คุณ Ahmadrashidi ยกมาก็เหนือกว่านั้น เพราะไปแปลให้เป็น ‘ภรรยามัยยิต’ ให้ชัดๆไปเลย ซึ่งนับว่ากล้ามากนะครับ, แต่เอาเถอะ ไม่ว่าจะแปลเป็น ‘ผู้หญิงของเขา’ หรือ ‘ภรรยาของมัยยิต’ ก็สื่อไปในทางเดียวกันคือ ความพยายามในการบิดเบือน และเสริมแต่งข้อความให้เป็นไปตามนัฟซูของพวกโต๊ะครูบางคน (หากเขาตั้งใจ) ให้กลายเป็นภรรยาของผู้ตายมาชวนท่านนบีให้ไปกินข้าวที่บ้าน ซึ่งเป็นข้อความที่ผิด.. ข้อความที่ถูกต้องจริงๆนั้นมีเพียงคำว่า إِمْرَأَةٍ ซึ่งแปลว่า ‘ผู้หญิงคนหนึ่ง’ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งตามนัยนี้สาระในข้อความที่ถูกต้องจึงมีความหมายแต่เพียงว่า ‘ผู้หญิงคนหนึ่งให้คนมาชวนท่านนบีไปทานอาหารที่บ้าน’ โดยที่ผู้หญิงคนดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับผู้ตายเลย

ที่นี่มาพิสูจน์ข้ออ้างกันครับ ประการแรกเราต้องรู้ก่อนว่า–หะดีษต้นนี้ อิมามอัตติบรีซี ผู้เขียนหนังสือ ‘มิชกาตุล มะศอบีหฺ’ ไม่ใช่ผู้เดียวที่บันทึกหะดีษนี้แล้วคุณ Ahmadrashidi หรือ อาจารย์ของเขา คุณอารีฟีน แสงวิมาน นำมาใช้ประโยชน์ โดยจะเห็นว่าอิมามอัตติบรีซี ท่านได้อ้างในตอนท้ายหะดีษอีกทีว่า คัดลอกมาจาก ‘อัส-สุนัน’ ของอิมามอบูดาวุด และ ‘ดะลาอิล อันนุบุวะฮฺ ของอิมามอัลบัยหะกี ซึ่งเราก็ต้องตามไปดูในหนังสือสองเล่มนี้ครับ ประการที่สองก็คือ–ไม่ใช่เพียงหนังสือของอิมามอบูดาวุดกับอิมามอัลบัยหะกี เท่านั้น ยังมีอีกรวมแล้ว 4 ท่าน ที่อ้างหะดีษนี้ไว้เช่นกันดังนี้

– อิมามอบูดาวูด ในหนังสือ ‘อัสสุนัน’ หะดีษที่ 3332
– อิมามอัลบัยฮะกี ในหนังสือ ‘ดะลาอิลุ นุบูวะฮฺ’ เล่ม 6 หน้า 310, สนพ.ดารุลกุตุบ อัลอิลมียะฮฺ, เบรุต
– อิมามอะฮฺมัด ในหนังสือ ‘อัลมุสนัด’ เล่ม 5 หน้า 293
– อิมามอัดดารุกุฏนี ในหนังสือ ‘อัสสุนัน’ เล่ม 4 หน้า 286

อีกทั้งยังมีอีก 5-6 เล่มที่อยู่ในหนังสือสถานะเดียวกันกับ ‘มิชกาตุล มะศอบีหฺ’ ของอิมามอัตติบรีซี ซึ่งล้วน ‘คัดลอก’ มาจากหนังสือ (ที่มาก่อน) ทั้ง 4 เล่มนี้ทั้งสิ้น และที่สำคัญมากๆก็คือ ทั้งหนังสือต้นหะดีษทั้งสี่และอีก 5-6 เล่มที่คัดลอกตามมา ไม่ปรากฏว่ามีสรรพนาม هِ ซึ่งแปลว่า ‘ของเขา’ อยู่เลยสักเล่มเดียว ซ้ำในบันทึกของอิมามอะฮฺมัด ยังมีข้อความขยายให้อีกด้วยซ้ำว่า “ผู้หญิงชาวกุเรชคนหนึ่ง ให้คนมาเชิญท่านนบีไป…” ครูมะฮฺมูด ศรีอุทัย ผู้วิเคราะห์หะดีษนี้จึงกล่าวว่า เป็นไปได้ว่าเป็นความผิดพลาดในขั้นตอนการพิมพ์นั่นเอง แล้วโต๊ะครูบางส่วนก็ฉวยโอกาสจากความผิดพลาดนี้ มาสนองนัฟซูตัวเอง เพราะอิมามอัตติบรีซีก็บริสุทธิ์ใจโดยอ้างที่มาอยู่แล้วนั่นเอง

และนอกจากหะดีษข้างต้นที่รายงานโดยท่าน อาศิม บิน กุลัยบฺ แล้ว ยังมีอีกสองหะดีษ ที่นิยมนำมาอ้างอิงกันในหมู่โต๊ะครูผู้นิยมกินเลี้ยงบ้านคนตาย คือหะดีษที่รายงานโดยท่าน อะหฺนัฟ บิน ก็อยซฺ และ หะดีษที่รายงานโดยท่าน ฏอวูส บิน กัยซาน ซึ่งล้วนแต่เป็นหะดีษเฎาะอีฟ ไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงใดๆทั้งสิ้น อีกทั้งบรรดาอุละมาอฺในสมัยก่อนก็ไม่มีใครใคร่จะยกมาสนองตัณหาในเรื่องนี้กันหรอก จะมีก็แต่ในยุคสมัยของเรานี่แหละ (ซึ่งผู้เขียนจะไม่นำมาวิเคราะห์ที่นี่)

///อยากเป็นโต๊ะครูต้องซื่อสัตย์
หากเราซื่อสัตย์ในการนำเสนอ ‘ความรู้’ และ ‘การตัดสิน’ ของบรรดาอุละมาอฺแล้ว เราก็ควรนำเสนอให้ครอบคลุม ยิ่งทัศนะที่มาจากกลุ่มอุละมาอฺในสี่มัซฮับหรือสำนักคิดทางนิติศาสตร์อิสลามที่ได้รับการยอมรับด้วยแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะหนี หากต้องการรู้ข้อเท็จจริงในเรื่องใดๆที่เป็นปัญหาอยู่ และอย่าให้มายาคติของการเชื่อฟังโต๊ะครูมาบังหน้าเลย หลายเรื่องเราคิด ค้นคว้า และศึกษาเองได้ครับ

เรื่องกินบุญบ้านคนตายหากเราไม่อคติต่อคำว่า ‘วะฮาบี’ อันเป็นนิยายปรัมปราใส่ร้ายของมุสลิมกลุ่มหนึ่งต่อมุสลิมอีกกลุ่มที่พยายามเอาศาสนากลับไปยังความบริสุทธิ์ซึ่งหมายรวมถึงการบริสุทธิ์หรือปลอดภัยในเรื่องกินเลี้ยงบ้านคนตายด้วยแล้ว เราก็จะพบได้ว่าเรื่องนี้มันไม่มีอะไรยากเลย ซึ่งครูมะฮฺมูด ศรีอุทัย ได้ยกทัศนะของอุละมาอฺจากสี่มัซฮับมาดังนี้

–มัซฮับหะนะฟี
1.) อิมามอัลกุรฏุบี (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ.671) ได้กล่าวในหนังสือ ‘อัตตัซกิเราะฮฺ’ หน้า 102 ว่า “และส่วนหนึ่งจากพฤติกรรมของพวกญะฮิลียะฮฺ (พวกอนารยชนยุคก่อนอิสลาม) ก็คือ เรื่องอาหารซึ่งลูกเมียผู้ตายในสมัยปัจจุบัน ได้ปรุงขึ้นมาในวันที่ 7 (หรือวันที่ 3, วันที่ 10, วันที่ 40, หรือครบ 100 วันแห่งการตาย) แล้วผู้คนก็มาชุมนุมกินอาหารนั้นโดยมีจุดประสงค์เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตายและแสดงความเมตตาต่อผู้ตาย นี่คืออุตริกรรมทางศาสนา (บิดอะฮฺ) ที่ไม่เคยปรากฏในยุคที่ผ่านมา และก็มิใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่นักวิชาการยกย่องสรรเสริญแต่อย่างใด, บรรดานักวิชาการกล่าวว่า ไม่สมควรอย่างยิ่งที่มุสลิมเราจะไปเลียนแบบคนต่างศาสนา และสมควรที่มนุษย์ทุกคนจะต้องห้ามปรามลูกเมียของเขาจากการไปร่วมในงานประเภทนี้… ท่านอิมามอะฮฺมัด บิน หัมบัล ก็กล่าวว่า ‘นี่คือพฤติกรรมของพวกญาฮิลียะฮฺ’ จึงมีผู้ท้วงติงท่านว่า ‘ก็ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยกล่าวไว้มิใช่หรือว่าให้พวกท่านทำอาหารไปให้ครอบครัวของญะอฺฟัรฺ’ ท่านอิมามอะฮฺมัดจึงตอบว่า ‘(คำสั่งนั้น) ไม่ใช่ให้พวกเขา (ครอบครัวผู้ตาย) ทำอาหาร (เลี้ยงพวกเรา) แต่ให้ (พวกเรา) ทำอาหารไปเลี้ยงพวกเขาต่างหาก, …ทั้งหมดนี้ คือสิ่งวาญิบสำหรับผู้ชายจะต้องห้ามปรามลูกเมียของเขาจากการกระทำมัน และหากผู้ใดผ่อนผันเรื่องนี้แก่ลูกเมียของเขา แน่นอนเขาคือผู้ทรยศต่ออัลลอฮฺผู้ทรงเกรียงไกรและยิ่งใหญ่ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนลูกเมียให้ทำบาปและการเป็นศัตรูกัน…”

2.) ท่านอิบนุลฮุมาม ได้กล่าวในหนังสือ ‘ชัรฺหุล ฮิดายะฮฺ’ ว่า “เป็นเรื่องน่ารังเกียจที่จะให้ครอบครัวผู้ตายเป็นฝ่ายเลี้ยงอาหาร เพราะการเลี้ยงอาหารนั้น เป็นบทบัญญัติในกรณีที่มีความสุข (เช่นตอนแต่งงาน, ตอนมีบุตร, เป็นต้น) มิใช่เป็นบทบัญญัติในยามทุกข์ (เช่น ตอนพ่อแม่หรือลูกเมียตาย เป็นต้น)… มันจึงเป็นเรื่องบิดอะฮ์ที่น่าเกลียด …” (อ้างจากหนังสือ ‘กัชฟุช ชุบฮาต’ ของท่านมะฮฺมูด หะซัน รอเบี๊ยะอฺ หน้า 192)

–มัซฮับมาลิกี
1.) ท่านอิมามอบูบักรฺ อัฏฏ็อรฺฏุชี (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ.530) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ‘อัลหะวาดิษ วัลบิดะอฺ’ หน้า 170 ว่า “อนึ่ง การที่ครอบครัวผู้ตายปรุงอาหารขึ้น และเชิญชวนให้คนมากินอาหารนั้น เรื่องนี้ไม่ปรากฏมีรายงานมาจากประชาชนยุคก่อนๆแต่อย่างใด และในทัศนะของฉัน มันเป็นเรื่องบิดอะฮฺ และเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ”

–มัซฮับชาฟิอี
1.) อิมาม อัชชาฟิอี กล่าวว่า “ฉันชอบให้เพื่อนบ้านของผู้เสียชีวิตหรือผู้เป็นเครือญาติของผู้เสียชีวิตทำอาหารให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อิ่มในวันและค่ำคืนที่เขาเสียชีวิตลง เพราะแท้จริงสิ่งดังกล่าวเป็นแบบอย่างของท่านนบีและเป็นการรำลึกที่ประเสริฐ และเป็นการปฏิบัติของเหล่าชนแห่งความดีทั้งก่อนและหลังพวกเรา ทั้งนี้เพราะเมื่อมีข่าวการเสียชีวิตของท่านญะอฺฟัร มาถึงท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ท่านก็กล่าวว่า “พวกท่านทั้งหลายจงทำอาหารให้แก่ครอบครัวของญะอฺฟัรเถิด เพราะพวกเขามีสิ่งที่ต้องง่วนกันอยู่” (บันทึกโดย อิมาม อะฮฺมัด ในมุสนัดของท่าน (1/205), อิมาม อบูดาวุด ในสุนันของท่าน (3/497) ในบทว่าด้วยพิธีศพ เลขหะดีษ 3132, อิมาม อัตติรมิซี ในสุนันของท่าน (2/234) ในบทว่าด้วยพิธีศพ เลขหะดีษ 1003 โดยท่านกล่าวว่านี้เป็นหะดีษหะสัน, อิมาม อิบนิมาญะฮฺ ในสุนันของท่าน (1/514) ในบทว่าด้วยพิธีศพ เลขหะดีษ 1610 และ ท่าน อัลหากิม ใน ‘อัลมุสตัดรอก’ (1/372) ในบทว่าด้วยพิธีศพ โดยท่านกล่าวว่า “หะดีษนี้มีสายรายงานที่ถูกต้อง แม้อิมาม บุคอรี กับ อิมาม มุสลิม ไมได้บันทึกไว้ก็ตาม, โดยชัยคุลมุหัดดีษ อิมาม อัซซะฮาบี ก็เห็นพ้องกันกับท่าน อัลหากิม ในหนังสือ ‘ตัลคีส มุสตัดรอก’” (จากตำราเมาซูอะฮฺ อัลอิมาม อัชชาฟิอี ; อัลกิตาบอัลอุมฺม์ ; ดารฺกุตัยบะฮฺ เล่มที่ 3 หน้า 416-417 หนังสือตุหฺฟะตุล อะหฺวะซี เล่ม 4 หน้า 38 และหนังสือ มิรฺกอตุลมะฟาตีหฺ เล่ม 4 หน้า 223)

2.) อิมามนะวะวี (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ.676) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ‘อัลมัจญมั๊วะอฺ’ เล่มที่ 5 หน้า 320 ว่า “เจ้าของหนังสือ ‘อัชชามิล’ (มีชื่อว่า อบูนัศรฺ มะฮฺมูด บิน อัลฟัฎลฺ อัลอิศบะฮานี, มีชื่อรองว่า อิบนุ ศ็อบบาค เป็นชาวเมืองอิศฟาฮาน, สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ.512) และนักวิชาการท่านอื่นๆกล่าวว่า อนึ่ง การที่ครอบครัวผู้ตายได้จัดปรุงอาหารขึ้น และเชิญชวนผู้คนให้มาร่วมรับประทานกัน พฤติกรรมนี้ไม่เคยปรากฏมีรายงานหลักฐานมาแต่ประการใด ดังนั้น มันจึงเป็นบิดอะฮฺที่ไม่ชอบตามหลักการศาสนา”

3.) อิมามอิบนุหะญัรฺ อัลฮัยตะมี (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ.974) ได้กล่าวในหนังสือ ‘ตุหฺฟะตุล มุหฺตาจญฺ” ว่า “สิ่งซึ่งปฏิบัติกันมาจนกลายเป็นประเพณีไปแล้ว… อันได้แก่การที่ครอบครัวผู้ตายปรุงอาหารขึ้นมา เพื่อเชิญให้ผู้คนมาร่วมรับประทานนั้น มันคือบิดอะฮฺที่น่ารังเกียจ เช่นเดียวกับการตอบรับคำเชิญชวนไปร่วมในงานเลี้ยงนี้ (ก็เป็นบิดอะฮฺที่น่ารังเกียจเช่นเดียวกัน)” (อ้างจากหนังสือ ‘อิอานะฮฺ อัฏฏอลิบีน’ เล่ม 2 หน้า 146)

4.) ชัยคฺ อะฮฺมัด บิน ซัยนี ดะหฺลาน อดีตผู้พิพากษาของมัษฮับชาฟิอีแห่งนครมักกะฮฺ ได้กล่าวตอบเมื่อมีผู้ถามปัญหาเรื่องการเลี้ยงอาหารบ้านผู้ตายว่า “ใช่, สิ่งซึ่งประชาชนกำลังกระทำกัน อันได้แก่การไปชุมนุมกัน ณ ครอบครัวผู้ตาย และมีการปรุงอาหาร (เพื่อเลี้ยงดูกัน) ถือว่าเป็นหนึ่งจากบิดอะฮฺต้องห้าม ซึ่งผู้นำที่ต่อต้านเรื่องนี้ จะได้รับผลบุญตอบแทน” ท่านยังกล่าวอีกว่า “และไม่มีข้อสงสัยใดๆเลยว่า การห้ามปรามประชาชนจาก (การกระทำ) สิ่งบิดอะฮฺต้องห้ามอย่างนี้ คือการฟื้นฟูซุนนะฮฺและเป็นการทำลายบิดอะฮฺ และยังเป็นการเปิดประตูแห่งความดีอย่างมากมาย และเป็นการปิดประตูแห่งความชั่วอย่างมากมาย เพราะว่าประชาชนต่างก็ทุ่มเท (ในเรื่องนี้) กันอย่างหนัก จนการกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่การปฏิบัติที่ต้องห้ามได้” (จากหนังสือ ‘อิอานะฮฺ อัฏฏอลิบีน’ เล่ม 2 หน้า 145-146)

–มัซฮับหัมบาลี
1.) อิมามอะฮฺมัดกล่าวว่า “มัน (การให้บ้านผู้ตายเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารแขก) เป็นพฤติการณ์ของพวกญะฮิลียะฮฺ” และท่านจะต่อต้านมันอย่างรุนแรง (อ้างจากหนังสือ ‘อัลมันฮัล อัลอัษบุลเมารูดฯ’ เล่ม 4 ส่วนที่ 8 หน้า 273)

2.) อิมาม อิบนุ กุดามะฮฺ ได้กล่าวในหนังสือ ‘อัลมุฆนี’ เล่ม 2 หน้า 413 ว่า “อนึ่ง การที่ครอบครัวผู้ตายปรุงอาหารขึ้นมาให้ประชาชน (รับประทาน) กันนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ เนื่องจากมันเป็นการซ้ำเติมเคราะห์กรรมของพวกเขามากยิ่งขึ้น ซ้ำยังเป็นการเพิ่มภาระพวกเขาซึ่งหนักอยู่แล้วให้หนักเข้าไปอีก และยังเป็นการลอกเลียนการกระทำของพวกญะฮิลียะฮฺอีกด้วย, มีรายงานอีกว่า ท่านญะรีรฺ บิน อับดุลลอฮฺ อัลบะญะลี (ร.ฎ.) ได้มาหาท่านอุมัรฺ (อิบนุล ค็อฏฏอบ (ร.ฎ.)) แล้วท่านอุมัรฺก็ถามว่า ‘เคยมีการนิยาหะฮฺ (คร่ำครวญอย่างหนัก) ให้แก่ผู้ตายของพวกท่านบ้างไหม? ท่านญะรีรฺตอบว่า ‘ไม่เคยครับ’ ท่านอุมัรฺก็ถามต่อไปอีกว่า ‘แล้วเคยมีการไปชุมนุมกันที่บ้าน/ครอบครัวผู้ตาย และมีการปรุงอาหารเลี้ยงกันไหม? ท่านญะรีรฺตอบว่า “เคยครับ” ท่านอุมัรฺก็บอกว่า “นั่นแหละคือการนิยาหะฮฺ (ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้าม)”

อนึ่งคำว่า ‘มักรูฮฺ’ (ความน่ารังเกียจ) ในคำพูดของบรรดาอุละมาอฺทั้งหมดนั้น ก็ไม่ได้หมายถึงในความหมายทั่วไปที่ว่า ‘ถ้าไม่ทำได้บุญ ถ้าทำก็ไม่ถึงกับบาป’ เพราะเมื่อมันถูกใช้พร้อมกับคำว่า ‘บิดอะฮฺ’ (อุตริกรรมทางศาสนา) ความหมายของมันก็จะเป็น ‘อุตริกรรมที่ต้องห้าม’ หรือหะรอมนั่นเอง ดังปรากฏใน ‘กัชฟุช ชุบฮาต’ หน้า 193 ว่า “ประการต่อมา โดยรูปการณ์แล้ว คำว่า ‘มักรูฮฺ’ จากคำกล่าวของนักวิชาการข้างต้นนั้น หมายถึง ‘เป็นเรื่องหะรอม’ (ต้องห้าม), ทั้งนี้ เพราะพื้นฐานของเรื่องนี้ (คือเรื่องที่ว่าการไปชุมนุมกินเลี้ยงกันที่บ้านผู้ตาย เป็นเรื่องมักรูฮฺนั้น) ได้แก่หะดีษของท่านญะรีรฺ บิน อับดุลลอฮฺ (ร.ฎ.) (ที่กล่าวว่า …พวกเรา (เศาะหาบะฮฺ) นับว่าการไปร่วมชุมนุมกันที่ครอบครัว/บ้านผู้ตายและมีการปรุงอาหารเลี้ยงกันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของนิยาหะฮฺ) และการนิยาหะฮฺนั้น ‘เป็นเรื่องหะรอม’ ดังนั้น สิ่งที่ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งนิยาหะฮฺ ก็ต้องหะรอมเช่นเดียวกัน และอีกอย่างหนึ่งก็คือคำว่ามักรูฮฺนี้ เมื่อถูกกล่าวโดยปราศจากข้อแม้ใดๆ (ตามหลักการแล้วถือว่า) ความหมายของมันก็คือหะรอมนั่นเอง”

ครับ จะเห็นได้ว่า จริงๆแล้ว บรรดาอุละมาอฺไม่ต้องเหนื่อยเลย หากมุสลิมอย่างเราๆเชื่อฟังหะดีษเศาะหีหฺสองบทแรกที่ผู้เขียนนำเสนอไปตอนต้นของบทความ อย่างหะดีษ ‘ท่านญะฟัร’ หรือหะดีษที่รายงานโดยท่านญะรีร บิน อับดุลลอฮฺ (ร.ฎ.) แต่แรก แต่ไม่ว่าจะด้วยอะไรก็ตามเรื่องกินเลี้ยงบ้านคนตายก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่สะท้อนให้เรารู้ว่าทำไม ความงมงายและการปฏิบัติที่ผิดๆทั้งหลายยังคงอยู่คู่กับสังคมมุสลิมเราอยู่อีก แม้ขณะในยุคโลกาภิวัฒน์ที่แค่คลิกก็ค้นหาความถูกต้องได้แล้ว หรือเพราะมุสลิมเราไม่เชื่อฟังนบี แต่เชื่อฟังโต๊ะครูมากกว่าหรือเปล่าไม่รู้?

แต่ที่แน่ๆ กระแส ‘ยกปอเนาะขึ้นบก’ ในยุคของ Social network ก็นับว่าใหม่อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนจริงๆ อย่างการโพสต์รูปของโต๊ะครูที่มีแสงวาบๆรอบตัวด้วยโฟโตช็อป ลูกศิษย์ก็ประชันชุดโต๊ป ผ้าสารบั่น ตำหนิโต๊ะครูที่ไม่ใส่กะปีเยาะห์ รวมถึงพฤติกรรมแปลกๆอย่าง ตัดต่อรูปโต๊ะครูที่ตัวเองเรียกว่าวะฮาบีให้มีเขา มีดวงตากลางหน้าผาก หรือแม้แต่ในแง่ของวาทกรรม การล้อเลียน การแต่งนิยายเรื่องวะฮะบีในหัวข้อต่างๆอย่างการครองโลก, ครองประเทศ, ครองหมู่บ้าน, 10 อันตราย, 20 ความน่ากลัว ฯลฯ จนถึงขั้นมีเพจกลุ่มเฉพาะไว้เล่นเรื่องพวกนี้ ทั้งๆที่ฝ่ายวะฮาบี (เอาเถอะ ตีว่ามีตัวเป็นๆอยู่จริงในโลก) ก็นับหัวได้ด้วยซ้ำที่เที่ยวไปเถียงกับคนเหล่านี้ นั่นก็เพราะไม่มีใครไปสนใจคนเหล่านี้เลยนั่นเอง เพียงแต่การชี้แจงบางประการก็จำเป็นขึ้นมาได้ หากคนเหล่านี้เลยเถิดมากเกินไปในการก่อความวุ่นวายในสังคม ผู้เขียนเองก็มีความสนใจในแง่ของจิตวิทยาพฤติกรรมอยู่เหมือนกัน มันเป็นเรื่องที่น่าศึกษานะครับ ว่าอะไรทำให้พวกเขามาถึงจุดๆนี้ได้ ใครมีวิชา ความสามารถ รู้เรื่องทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะศึกษาเป็นงานวิจัยทางจิตวิทยาได้เลย หรือใครมีความสามารถทางการประพันธ์ ก็ลองแต่งปรากฏการณ์พวกนี้ให้เป็นวรรณกรรมที่แฝงคติ หรือนิทานเปรียบเทียบ อย่าง Animal Farm ของ จอร์จ ออเวลล์ งี้ คงจะสร้างสรรค์และมีประโยชน์กว่าไปนั่งเถียงมิใช่น้อย ก็ดูเองละกัน แม้แต่หะดีษเศาะหีหฺของท่านนบี พวกเขายังผลักออกไปอย่างไม่ใยดี นับประสาอะไรกับไอดำไอขาวอย่างเรา ที่เสนอหน้าไปถกเถียงเขาละ เด่วดีไม่ดีก็ถูกนาซีฮัตให้กลับไปใส่โสร่งสวมสารบั่นก่อนน่ะสิ.

หมีมลายู
16/10/58

Ref : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1666540870282930&set=gm.899143453487637&type=3
.

ใส่ความเห็น