ประหารชีวิต..อุละมาอฺ! ทายาทนบีมุฮัมมัด

995026_663238233732864_1153009487_n

‘ประหารชีวิต..อุละมาอฺ! ทายาทนบีมุฮัมมัด’
หมีมลายู : เรียบเรียง

อัลบั้มรูปเหตุการณ์ :

========

1 ‘ลำนำแห่งความชั่วร้าย’

เหมือนข่าวคราวของหลายๆเหตุการณ์ในโลกมุสลิมถูกขโมยออกไปไว้ที่ไหนสักแห่ง ที่ซีเรีย เรารู้ว่ามีพี่น้องมุสลิมต้องเสียชีวิตไปกว่าแสนคนแล้วในเวลานี้ ที่อียิปต์ การต่อสู้ของประชาชนและบรรดาอุละมาอ์ยังไม่ยอมแพ้รัฐบาลเอาง่ายๆ กระทั่งรัฐบาลถึงขนาดสั่งห้ามพวกอุละมาอ์ขึ้นพูดในที่สาธารณะ โรฮิงญายิ่งไม่ต้องพูดถึง อะไรที่ว่าใกล้นี่แหละ เราชอบใจนักที่จะโยนทิ้งไปจากหัวสมองไปหมด จะด้วยการตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ยังคงมีพี่น้องโรฮิงญาที่จะต้องอยู่พักในคุกอย่างแออัดเดียวดาย ขณะที่บางส่วนก็หลบหนีออกไปหลงป่าหลงเขาที่ไหนสักแห่งในประเทศไทยนี้ นับร้อยๆคน …ความจริงคือ เราตื่นตัวไม่นานนักกับความทุกข์ยากของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก แต่ไม่นานหรอกเราก็หยิบผ้าห่มขึ้นมาแล้วก็นอนต่อ นี่แหละมุสลิมอย่างเราๆวันนี้

ที่น่าเจ็บใจที่สุดเห็นทีจะเป็นข่าวการพิพากษาประหารชีวิตบรรดาอุละมาอ์ในประเทศบังคลาเทศเกือบสิบกว่าคน ที่ขึ้นเคียงไปแล้วชัดๆเมื่อ 12 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมานั้น ก็มีอยู่ 1 ท่านคือ เมาลานา อับดุลกอดีร มุลลอฮฺ (Maulana Abdulqader Mullah) รองเลขาธิการพรรคญะมาอะฮฺอิสลามี บังคลาเทศ ผู้คนออกมาประท้วงกันเต็มท้องถนน รัฐบาลเซคคิวลาห์ของนางชีค ฮาซีนา (Sheikh Hasina) ก็ตอบรับทันทีด้วยการสลายการชุมนุมและทุบตีพี่น้องมุสลิมเหล่านั้นอย่างสาหัสสากรรจ์

พฤษภาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์ทำนองนี้ก็เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อกลุ่ม Hifazat-e-Islam ซึ่งได้ออกมารณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลออกกฏหมายลงโทษบล็อกเกอร์คนหนึ่งที่ได้เขียนดูหมิ่นถึงท่านนบีมุฮัมมัด รัฐบาลตอบรับการเรียกร้องด้วยการออกมาทำร้ายผู้ชุมนุม ทุบตีพวกเขาอย่างโหดร้าย ภาพวิดิโอทำให้เราเห็นถึงความเป็นอมนุษย์เหล่านี้ได้ดี ผู้เขียนแทบไม่อยากจะเชื่อเลยว่า ภาพที่ชายคนหนึ่งนอนแน่นิ่งอยู่บนถนนและมีตำรวจในชุดเขียวหลายคนวิ่งเข้ามาเอาไม้กระบองทุบตีใส่ด้านหลัง จนเลือดกระอักออกมาจากปากพื้นแดงฉานนั้นคือมุสลิมทำมุสลิมด้วยกัน! (ดูคลิบข้างล่าง) ในเหตุการณ์เดียวกันนี่เอง ตำรวจยังเผามัสยิดบัยตุลมุกัรรอม (Masjid Baitul Mukarram) ซึ่งเป็นมัสยิดที่สวยงามและใหญ่ที่สุดในประเทศแห่งนี้ มัสยิดที่เมาลานา ซายดี หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในเวลานี้มาบรรยายบ่อยๆ ซึ่งทุกครั้งจะมีผู้คนมาฟังเป็นหมื่นๆคน เหตุการณ์เลวร้ายทั้งหมดนี้ทำขึ้นโดยรัฐบาลที่เรียกตัวเองว่ามุสลิม!

คำพูดของเจ้าชาย ชะกีบ อัรสะลาน นักประวัติศาสตร์มุสลิมในยุคสมัยปลายอุษมานียะฮฺดังก้องอยู่ในหูตลอด “ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดสำหรับมุสลิมก็คือมุสลิมด้วยกันเอง”

เกิดอะไรขึ้นในบังคลาเทศ ประเทศที่อ้างว่ามีศาสนาประจำชาติคืออิสลาม แต่กลับสังหารบรรดาอุละมาอ์ให้ดับดิ้นกันเป็นว่าเล่น? แล้วทำไมเราถึงไม่รู้ข่าวคราวเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย ทั้งๆที่มีอุละมาอ์หลายท่านซึ่งอยู่ในคุกในเวลานี้นั้น ต้องรอขึ้นเคียงประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในอีกไม่กี่เพลาข้างหน้านี้แล้ว?

2 ‘ปากีสถานตะวันตก-ปากีสถานตะวันออก’

ย้อนกลับไปก่อนปี 1971 ในขณะที่บังคลาเทศยังคงเป็น ‘ปากีสถานตะวันออก’ ประชาชนซึ่งเป็นชาวเบงกาลีและไม่ได้พูดด้วยภาษาฮินดูนั้น มองว่ารัฐบาลซึ่งมีที่ประจำการหลักอยู่ใน ‘ปากีสถานตะวันตก’ มีการเอาใจใส่ โดยเฉพาะการดูแลประชาชนนั้น ไม่เท่าเทียมกัน ปากีสถานตะวันออกถูกทอดทิ้งเหมือนลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่ ประชาชนลุกฮือก่อจลาจลจนเกิดขบวนการชาตินิยมเบงกาลี เพื่อปลดแอกพันธนาการนี้ ปากีสถานตะวันตกภายใต้การนำของนายพลไนอะซี (Gen.Amir Abdullah Khan Niazi) ได้ส่งทหารเข้าไปจัดการกับประชาชนที่ออกมาชุมชุมจนบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองย่อมๆเป็นเวลาถึง 9 เดือน ประชาชนกว่า 3 ล้านคนต้องถูกฆ่าตาย (ตามคำอ้างของรัฐบาลบังคลาเทศปัจจุบัน) อินเดียในขณะนั้นทำตัวเป็นตัวกลางเข้ามาหยุดสถาณการณ์เลวร้ายเหล่านี้ ปากีสถานประกาศยอมแพ้อย่างราบคาบ ในภาพที่นายพลไนอะซีลงนามยุติสงครามนั้น มีนายทหารใหญ่ของอินเดียยืนดูแลอยู่ข้างๆ นายทหารผู้เป็นวีรบุรุษของชาวบังคลาเทศ ผู้นำทหารอินเดียเข้ามาเพื่อช่วยเหลือชาวเบงกาลี นายพล เจ.เอฟ.อาร์.จาค็อป (Gen.Jacob Farj Rafael Jacob) นายทหารอินเดียผู้มีเชื้อสายยิวจากอิรัก

ปี 1971 นับเป็นปีแห่งสงครามประกาศอิสรภาพสำหรับชาวบังคลาเทศ ที่ได้ปลดแอกจากปากีสถานตะวันตกหรือประเทศปากีสถานในขณะนี้ แต่เป็นเวลากว่า 40 ปีมาแล้วนับจากวันนั้น ประเทศแห่งนี้ไม่เคยหลุดพ้นจากคำว่า ‘ประเทศด้อยพัฒนา’ หรือพูดง่ายๆคือ ประเทศที่อยู่ในภาวะตกต่ำสุดๆในโลก สถานการณ์ภายในประเทศก็ไม่เคยสงบ มีปัญหามากมายตามมาอยู่เรื่อย ภายใต้รัฐบาลเซคคิวลาห์จากพรรค AL หรือ Awami Leage ที่คุมสภามาตั้งแต่ยุคต้นของการก่อตั้งประเทศ ไม่ยอมยกเก้าอี้ให้ใครหน้าไหนทั้งนั้น แม้พรรคญะมาอะฮฺอิสลามีแห่งบังคลาเทศ (๋JIB) ซึ่งประกาศเดินอุดมการณ์ดั่งที่ผู้ก่อตั้ง ซัยยิด อบุลอะอฺลา อัลเมาดูดี ได้วางไว้ให้ คือเอาอิสลามมาปกครองรัฐให้จงได้ก็ตาม

ในห้วงเวลาที่อังกฤษยังไม่ได้จัดการแยกประเทศให้เป็นปากีสถาน-อินเดีย (เรียกว่า British India) ตามธรรมเนียมวิธีการสกปรกของเหล่าเจ้าแห่งอาณานิคมคือ Divide and Rule หรือแบ่งแยกแล้วปกครองครอบงำนั้น ซัยยิด อบุลอะอฺลา อัลเมาดูดี (เราะหิมะหุลลอฮฺ) ก็ได้เริ่มแผนงานในการก่อตั้งขบวนการต่อสู้อิสลามที่ยิ่งใหญ่ขบวนการหนึ่งขึ้นมาบนโลก นั่นคือ ‘ญะมาอะฮฺอิสลามี’ ขบวนการกำเนิดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม 1941, ญะมาอะฮฺอิสลามี มีอุดมการณ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างสังคมรัฐอิสลาม (Socio-Political Islam) ที่ครอบคลุมในทุกด้านของชีวิต นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ขบวนการกลายเป็นพรรคการเมืองในเวลาเดียวกัน ก่อเกิดมวลชนมากมายที่ให้การสนับสนุนด้วยเนื่องจากความเข้มแข็งขององค์กรและบุคลิกภาพที่เปี่ยมไปด้วยพลังของผู้นำในขณะนั้นและในเวลาต่อมา โดยเฉพาะ ซัยยิดอบุลอะอฺลา อัลเมาดูดี

ในขณะที่ ซัยยิด อัลเมาดูดี ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในวัย 38 ปี, 7 ปีหลังจากนั้น ที่กรุงธากา เลขาธิการองค์กรนักศึกษา มหาวิทยาลัยธากา (the Dhaka University Central Students’ Union (DUCSU)) ฆูลาม อัซซาม ได้ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีปากีสถานตะวันตก ลียากัต อะลี คาน (Liaquat Ali Khan) ขอให้ตั้งภาษาอุรดูเป็นภาษาหลักของแผ่นดินเบงกอล

หลังจากที่ปากีสถานได้แยกออกจากอินเดียในปี 1947, ปี 1950 อัซซามในวัย 28 ปี เข้าไปเป็นอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ใน Carmichael College ในรังปูร ตอนเหนือของเบงกอลหรือปากีสถานตะวันออก ที่นี่ ท่านได้เข้าร่วมกับกลุ่ม ญะมาอะฮฺตับลีฆ และ ตะมัดดุนมัญลิส (Tamaddun Majlish) องค์กรหัวก้าวหน้าที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1947 โดย ศาสตราจารย์ มุฮัมมัด อบุลกอซิม (Mohammad Abul Kashem) ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยธากา ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับวัฒนธรรม การศึกษา โดยเฉพาะการรณรงค์ให้ภาษาเบกาลีเป็นภาษาที่หนึ่งของปากีสถานตะวันออก ภาษาที่สองคืออุรดูและที่สามคืออังกฤษ องค์กรตะมัดดุนมัญลิสมีอิทธิพลอย่างมากในแง่ของการเป็นศูนย์กลางของบรรดาปัญญาชน ในปี 1954 อัซซาม ได้อ่านงานเขียนของ ซัยยิด อัลเมาดูดี จนได้เข้าไปเป็นสมาชิกพรรคและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอะมีรของญะมาอะฮฺในปากีสถานตะวันออก

ปี 1964 ญะมาอะฮฺอิสลามีถูกประธานาธิบดีคนที่สองแห่งปากีสถาน มุฮัมมัด อัยยุบ คาน (Ayub Khan) สั่งแบน หัวหน้าพรรครวมถึงอัซซาม ถูกจับเข้าคุก 8 เดือน โดยไม่มีการสอบสวนใดๆ เมาลานา อับดุลเราะฮีม (Maulana Abdulrahim) ขึ้นมาเป็นอามีรแทน และในปี 1970 เมาลานา อับดุรเราะฮีม ก็กลับไปเป็นรองอะมีรญะมาอะฮฺที่ปากีสถานตะวันตก ส่วนปากีสถานตะวันออก อัซซามกลับเข้ามารับหน้าที่อะมีรต่อไป ญะมาอะฮฺเคลื่อนไหวอย่างลับๆ เพื่อไม่ให้รัฐบาลเล่นงานอีก

3 ‘บังคลาเทศ เครื่องมือทำลายอิสลามล่าสุด’

ปี 1971 ที่สงครามแห่งอิสรภาพของบังคลาเทศได้เกิดขึ้นนั้น กองทัพปากีสถานตะวันตกได้ส่งทหารเข้ามาจัดการกับสถานการณ์ความวุ่นวายที่นำโดย The Mukti Bahini หรือกองกำลังปลดปล่อยชาวเบงกาลี ญะมาอะฮฺอิสลามีมีทีท่าความต้องการที่จะให้เบงกอลอยู่ในการดูแลของปากีสถานตะวันตกต่อไป เพราะยังมีความหวังในชัยชนะของญะมาอะฮฺอิสลามีที่นำโดยซัยยิด อัลเมาดูดี แต่ไม่เห็นด้วยกับกองทัพปากีสถาน (ซึ่งก็ไม่ชอบพอกันกับญะมาอะฮฺอยู่แล้ว) ในการเข้ามาทำร่้ายประชาชนที่คิดต่าง ภายหลังสงคราม ญะมาอะฮฺอิสลามีถูกสั่งแบนอีกครั้งโดยประธานาธิบดีคนแรกของบังคลาเทศ ชีค มุญีบุร เราะฮฺมาน (Sheikh Mujibur Rahman) อัซซามถูกขับออกไปอยู่ปากีสถาน ต่อเมื่อปี 1975 มุญีบุร เราะฮฺมาน ถูกลอบสังหาร และในสมัยนายพล ซียารว์ เราะฮฺมาน (Ziaur Rahman) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 7 ช่วงปี 1977-1981 นั้น ได้ตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อ Bangladesh Nationalist Party, BNP ขึ้นมา (ปัจจุบันเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านและมีสมาชิก 2 คนถูกรัฐบาลยัดข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับสมาชิกในพรรค JIB) และเรียกอัซซามกลับมาประเทศอีกครั้งในปี 1978 ทว่าในปี 1981 ซียารว์ เราะฮฺมาน ก็ถูกลอบสังหาร ผู้คนเรียกท่านว่าอัชชะฮีด

ภายหลังสิ้นยุคทหาร ปี 1990 อัซซามเริ่มถูกเล่นงานโดยฝ่ายรัฐบาลคือพรรค Awami Leage,AL ซึ่งก่อตั้งโดย ชีค มุญีบุร เราะฮฺมานในปี 1949, ภายใต้การนำของ ญะฮานารา อีมาน (Jahanara Iman) นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลผู้สูญเสียสามีและลูกสาวสองคนในสงครามปี 1971, ปี 1991 เธอได้ริเริ่มก่อตั้งองค์กร ‘คระกรรมการเพื่อการพิพากษาฆาตกรและผู้สมรู้ร่วมคิด’ เพื่อสอบสวนและนำผู้ที่เธอเรียกว่าฆาตกร (รวมถึงอัซซาม) มาดำเนินคดีให้ได้ องค์กรนี้มีอายุได้แค่ 6 ปี ก็ถูกปิดไปเพราะถูกระบุว่าตั้งขึ้นมาโดยมิชอบตามกฏหมาย แต่ก็นับเป็นการริเริ่มหรือแรงบันดาลใจในการก่อตั้ง The International Crimes Tribunal,ICT หรือ ‘ศาลอาชญากรสงครามบังคลาเทศ’ ในปี 2009 ที่ตั้งขึ้นโดยนางชีค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรีปัจจุบันและลูกสาวคนโตของ ชีค มุญีบุร เราะฮฺมาน

สงครามในปี 1971 ตามรายงานของรัฐบาลบังคลาเทศนั้น กองทัพปากีสถานตะวันตกได้ฆ่าชาวเบงกาลีไปกว่า 3 ล้านคน (ตามงานวิจัย ตัวเลขจริงน่าจะอยู่ที่ 3 แสนถึง 5 แสนคนมากกว่า) และยังมีสตรีที่ถูกข่มขื่นอีกกว่า 2 แสนคน รัฐบาลบังคลาเทศกล่าวหา อัซซาม และสมาชิกระดับสูงหลายคนของพรรคว่าเคยเข้าร่วมและทำงานให้กับกองทัพปากีสถานในนามของกลุ่ม Razakar, Al-Badr และ Al-Shams ในปี 1971 เพื่อฆ่าประชาชนชาวเบงกอลและข่มขืนบรรดาสตรี

ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือศาลอาชญากรสงครามบังคลาเทศ (ICT) อันเป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งของรัฐบาลด้วยนั้น ไม่ได้รับการยอมรับโดยสหประชาชาติและองค์ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแม้สักนิดนี้ ตั้งขึ้นในปี 2009 โดยนางชีค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันแห่งพรรค Awami Leage ซึ่งเป็นพรรคเซคคิวลาห์และเป็นศัตรูทางการเมืองกับพรรคญะมาอะฮฺอิสลามี ศาลได้อาศัยแถลงการณ์ในปี 1971 ไม่กี่ฉบับเท่านั้นเองซึ่งอัซซามพุดถึงทัศนะของเขาที่เห็นด้วยกับการอยู่กับปากีสถานและต่อต้านอินเดียซึ่งท่านคิดว่าอยู่เบื้องหลังการยุยงทั้งหลาย รัฐบาลและศาลจัดการตีความแถลงการณ์เหล่านั้นและเชื่อมโยงไปถึงข้อกล่าวหาต่างๆมากมายใส่สมาชิกพรรคระดับสูงซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นอุละมาอฺในบังคลาเทศ จำนวนทั้งหมด 9 คน (อีก 2 คนจากพรรค BNP) โดยเฉพาะกรณีของ เมาลา อับดุลกอดีร มุลลอฮฺ นั้น เบื้องต้นศาล ICT ได้พิพากษาให้จำคุกแต่ประชาชนและรัฐบาลคัดค้่าน รัฐสภาจึงออกกฏหมายใหม่ทันที นั่นคืออนุญาตให้รัฐบาลยื่นอุทธรณ์ศาลเพื่อเปลี่ยนการตัดสินใหม่ และให้อำนาจรัฐอย่างเต็มที่ในการดำเนินคดีกับองค์กร หรือกลุ่มการเมืองที่มีส่วนในเหตุการณ์ปี 1971 และห้ามองค์กรหรือพรรคเหล่านั้นลงเลือกตั้งอีกต่อไป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงนับเป็นครั้งแรกของโลกที่ศาลสูงเพิ่มโทษให้นักโทษ

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ทั้งรัฐบาลของนางชีค ฮาซีนา ศาลและรัฐสภา ล้วนเป็นขบวนการทำงานเพื่อที่จะกำจัดศัตรูทางเมืองที่มีอิทธิพลและอันตรายที่สุดสำหรับตนอย่างได้ผลชะงัก เพราะเพียงระยะเวลาไม่ถึง 5 ปีเท่านั้น (ปี 2010-2013) รัฐบาลที่ประกาศให้ประเทศตัวเองมีศาสนาประจำชาติคืออิสลามประเทศนี้นั้น สามารถใช้สิ่งที่ตัวเองเรียกว่าศาล (แต่ทั่วโลกไม่ยอมรับ) พิจารณาคดีประหารชีวิตและตัดสินให้อุละมาอฺติดคุกได้ถึง 9 คน ซึ่งทุกคนมีข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกันคือมีส่วนในความชั่วร้ายอย่างใดอย่างหนึ่งต่อประชาชนชาวเบงกาลีในช่วงสงครามแห่งอิสรภาพปี 1971 และถูกเรียกร้องจากประชาชนและรัฐบาลให้ประหารชีวิตเสียทั้งหมด ผู้เขียนขอยกรายชื่อและข้อกล่าวหาบางส่วนมาดังนี้

29 มิถุนายน 2010 เมาลานา มุตีรฮฺ เราะฮฺมาน ไนซามี (Motiur Rahman Nizami) ผู้นำพรรคญะมาอะฮฺอิสลามี บังคลาเทศ (JIB) ถูกจับและขังคุกในข้อหาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกลุ่ม Al-Badr

11 มกราคม 2012 / เมาลานา ศาสตราจารย์ ฆูลาม อัซซาม (Prof. Ghulam Azzam) ผู้ก่อตั้งและผู้นำจิตวิญาณของ JIB ถูกจับในข้อหาหนัก 5 ข้อหาหาคือ ยั่วยุ, สมรู้ร่วมคิด, วางแผน,ล้มเหลวหรือทำให้เหตุการณ์เบาลงไม่ได้ในเหตุฆาตกรรมเมื่อสงครามปี 1971 นอกจากนี้ท่านยังโดนยัดข้อหาย่อยอีกกว่า 61 กระทง ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ศาสตราจารย์ฆูลามในวัย 90 ปี ถูกตัดสินให้ต้องโทษประหารชีวิต แต่ด้วยอายุที่มากและสุขภาพที่ย่ำแย่ ศาลลดโทษให้เหลือจำคุกเป็นเวลา 90 ปีแทน!

3 เมษายน 2012 เมาลานา อบุลกาลาม อะซัด (Abul Kalam Azad) นักวิชาการและสมาชิกระดับสูงของพรรคญะมาอะฮฺอิสลามีถูกจับด้วยข้อหา สังหารหมู่, ข่มขืน, ลักพาตัว, กักขัง และทรมาน เมาลานา อบุลกาลามถูกตัดสินประหารชีวิต มกราคม 2013

28 กุมภาพันธ์ 2013 เมาลานา เดลวาร หุสเสน ซายดี (Delwar Hussein Sayeedi) รองหัวหน้าพรรคญะมาอะฮฺอิสลามีถูกจับและต้องโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ จากข้อหาสังหารหมู่, ข่มขืน และเผาศาสนสถานฮินดูและกดขี่ทางศาสนา

9 พฤษภาคม 2013 มุฮัมมัด กามารุซซะมาน (Muhammad Kamaruzzaman) รองเลขาธิการอวุโสของพรรคญะมาอะฮฺอิสลามี และบรรณาธิการนิตยสาร Weekly Sonar Bangla ถูกจับในข้อหา สังหารหมู่, ข่มขืน, ปล้น และวางเพลิง

17 กรกฎาคม 2013 เมาลานา อะลี อะหฺสัน มุฮัมมัด มุญาฮิด (Ali Ahsan Muhammd Mujahid) เลขาธืการของพรรคญะมาอะฮฺอิสลามี บังคลาเทศ ถูกจับในข้อหา ร่วมมือกับกลุ่ม Al-Badr กับ Al-Shams สังหารหมู่, สมรู้ร่วมคิดในการฆ่า ทรมานและลักพาตัวบรรดาผู้รู้และนักวิชาการในเบงกอล

5 กุมภาพันธ์ 2013 เมาลานา อับดุลกอดีร มุลลอฮฺ (AbdulQadir Mulloh) รองเลขาธิการพรรคญะมาอะอฺอิสลามี บังคลาเทศ ถูกจับในข้อหาเป็นสมาชิกกลุ่ม Al-Badr และมีส่วนในการสังหารชาวบ้านกว่า 344 คนในสงครามอิสรภาพ ปี 1971 เมาลานาอับดุลกอดีร ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ท่ามกลางเสียงคัดค้านมากมาย

4 ‘กลุ่มชนแห่งฟองน้ำ’

ทั้งหมดนี้ คือพี่น้องมุสลิมและอุละมาอฺของเราบางส่วนเท่านั้นที่กำลังถูกทารุณกรรมโดยรัฐบาลและผู้อยู่เบื้องหลังพวกเขา ประชาชนชาวบังคลาเทศที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้นำของเขาก็ถูกกวาดล้างและจับไปทรมานเป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ในชมพูทวีป (ในมาเลเซียและอินโดด้วย) แต่เราเองกลับไม่รู้อะไรเลยในสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ที่บังคลาเทศ อุละมาอฺเรา พี่น้องมุสลิมเรา

ที่กรุงเทพ, และตามหน้าเฟสบุคของบรรดาชะบ๊าบมุสลิมไทยหลายๆคน ในสภาวะบ้านเมืองเราที่วุ่นวายไม่ต่างกันนี่ ผู้เขียนสังเกตได้อย่างหนึ่ง คือเราชอบอ่านและติดตามเรื่องของคนอื่น ใครด่าใคร ใครจับผิดใคร ที่บรรดาเพจต่างๆไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่คิดว่าตัวเองเป็นพวกหัวก้าวหน้าต่อต้านระบอบอนุรักษ์นิยม หรือเพจที่คิดว่าตัวเองรู้ทันรัฐบาล รู้ทัน กปปส. ทั้งหมดนี้มันถูกแล้วหรือที่จะให้เป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจเป็นลำดับแรก

จริงหรือเปล่าไม่ทราบ พวกเรานั้นเป็นคนที่ไม่ชอบติดตามและค้นคว้าเรื่องของตัวเราเอง เราไม่เคยรู้ตัวเลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับตัวเราเอง กับอุมมะฮฺเรา เราไม่รู้ตัว ไม่รู้ข่าวคราวเลยสักนิด ทั้งๆที่ อุละมาอ์เกือบสิบคน กำลังรอขึ้งเคียงประหารชีวิตด้วยการ ‘แขวนคอ’ อยู่ที่บังคลาเทศ หลังจากที่ท่านแรกได้ถูกแขวนไปแล้วเมื่อ 12 ธันวา 56 ที่ผ่านมาแล้วแท้ๆ เรากำลังทำอะไรอยู่กันแน่..วัลลอฮุอะลัม

========

*แหล่งข้อมูลที่ใช้เรียบเรียง :
www.wanfauzi.com
www.dakwatuna.com
www.jamaat-e-islami.org/en/
www.jamaatsupporters.com
www.wikipedia.org
http://apdforum.com/th
http://news.voicetv.co.th/global/75576.html

*คลิป :
18+ ความโหดร้ายที่ตำรวจกระทำต่อผู้เรียกร้องกฏหมายลงโทษผู้ดูหมิ่นนบีมุฮัมมัด
https://www.facebook.com/photo.php?v=607253945960384

Azam found guilty of Bangladesh war crimes
http://youtu.be/kzAtj5LGRw0

Bangladesh Awaits Prof. Gulam Azam Verdict Amid Protests
http://youtu.be/YDUQqYqtDHw

Abdul Kader Mullah last Video before Burial
http://youtu.be/rQAtr36-BFY

Allama Delwar Hossain Sayeedi Sylhet 2009 day 3 Part 2 bangla waj
http://youtu.be/SHXhGzjbZ7g

Bangladesh protesters demand blasphemy law
http://youtu.be/MRX6igLpO5I

========

ใส่ความเห็น