บทสนทนา กว่ามลายูมุสลิมจะได้ใส่หิญาบ//ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ

โ ต๊ ะ น้ำ ช า กั บ คุ ณ ค รู
เรื่อง : อิบนุ ซาการีย์ยา / ภาพ : ญ๋อ

ผู้หญิงนั้น ไม่เคยถูกทอดทิ้งในสายตาอิสลาม

บทสนทนา… กว่ามลายูมุสลิมจะได้ใส่หิญาบ
ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ

sm4

                 ปัจจุบันภาพนักศึกษามุสลิมะฮฺที่สวมอาภรณ์หิญาบ เสื้อแขนยาว และกระโปรงยาวปกปิดมิดชิด มีให้ได้เห็นอย่างหนาตาตามมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศและกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเสียแล้ว อีกทั้งการแต่งกายลักษณะนี้ยังเป็นที่ยอมรับและถูกยกให้เป็นกฎระเบียบบังคับแก่นักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามโดยที่ไม่ต้องต่อสู้ ไม่ต้องดิ้นรน เพียงเดินไปตามเส้นทางอันขรุขระในครั้งอดีตที่ถูกทำให้ราบเรียบไว้แล้ว ณ ปัจจุบัน

หากย้อนกลับไปกว่าสองทศวรรษก่อน (ปี พ.ศ.2530-33) เรื่องดังกล่าวกลับถูกกีดกัน หรือแม้กระทั่งขู่เข็นไม่ให้เข้าเรียนหากยังคงยืนกรานจะสวมใส่หิญาบ แต่งกายตามบทบัญญัติของศาสนา หากคิดจะใส่ ก็อาจต้องแลกกับการไม่ได้เข้าเรียน  เข้าสอบ ถึงขั้นพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา ทว่าบทบัญญัติจากพระเจ้า มันคือศรัทธาที่ไม่อาจเพิกเฉยได้ บรรดาหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งจึงลุกขึ้นทวงสิทธิที่ควรได้รับ ต่อสู้บนถนนสายนี้ด้วยตัวของพวกเขาเอง หากจะรอให้คนอื่นยื่นมือเข้ามาช่วยเห็นทีไม่ทันการ และแม้ต้องแลกด้วยอนาคตทางการศึกษา ก็หาได้หวั่นเกรงไม่

วันนี้เรามีนัดพูดคุยกับ อาจารย์สุกรี หลังปูเต๊ะ ถึงเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องหิญาบในอดีต เราพบท่านที่มัสญิดหะรอมัยน์ มหาวิทยาลัยอิสลาม ยะลา อากาศอันร้อนระอุในช่วงเมษายน กลับสงบเย็นด้วยบรรยากาศในมัสญิดที่บุรุษไว้เครานั่งพักผ่อนกันอย่างหนาตา บ้างก็งีบหลับหลังซุฮฺริ อันเป็นกิจจะลักษณะของบุรุษอาชาไนยที่พึงมีดั่งเช่นศาสนฑูตของเรา พลอยให้นึกถึง ประหนึ่งเราคือคณะทูตเปอร์เซียที่ดั้นด้นมาหาท่านอุมัร(เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ)ผู้นอนนิ่งใต้ร่มเงาไม้อย่างสมถะในวิถี ไร้วี่แววยศฐาอิสริยาภรณ์ประดับกาย หรือผู้ติดตามให้ขัดตา อาจารย์สุกรี นั่งสนทนาพาทีกับใครบางคนอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยเป็นกันเอง หลังเสาต้นหนึ่งในหะรอมัยน์ ไม่บอกคงมิอาจรู้ได้ว่าเขาคือ คณบดีคณะศิลปะศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

ระหว่างรอทีมงานมาสมทบครบทีม อาจารย์สุกรีก็เดินมาหาเราพร้อมกับรุ่นน้องอีกคน อาจารย์ชากีรีน สุมาลี ทราบมาภายหลังว่า ท่านก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมในเหตุการณ์ประท้วงดังกล่าวด้วย ทำให้เพิ่มอรรถรสยิ่งขึ้นในการสนทนาครั้งแรกของเรา เมื่ออาจารย์พร้อม ทีมงานพร้อม ก็ได้เวลาที่จะนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไป ณ เหตุการณ์ประท้วงหิญาบ เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์มุสลิมในประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง

เราคงไม่ได้หวังมากไปใช่ไหม หากจะคิดไปว่า หลังจากท่านอ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้ว สายตาที่ท่านใช้มองหิญาบ จะเปลี่ยนไป

ช่วยเล่าหน่อยครับอะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ประท้วงหิญาบ

หิญาบใน วค.เนี่ย หรือราชภัฏยะลาในปัจจุบัน ในยุคนั้นซึ่งยังเป็นวิทยาลัยครูยะลาอยู่  ที่มาที่ไปมัน innocent มากๆ ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรเลย มันเป็น demand and supply  ที่ตอบสนองไม่ได้นั่นเอง ถ้าใช้หลักเศรษฐศาสตร์ คือ ถ้ามันมี demand ก็จะมี supply ระบบเศรษฐกิจจึงจะเดินต่อไปได้ แต่นี่มี demand  แต่ supply ไม่มี เลยกลายเป็นประเด็นขึ้นมา นั่นก็คือ นักศึกษามุสลิมะฮฺปีหนึ่งของวิทยาลัยครูยะลา ในหลายสาขาวิชา ที่จบจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามน่ะครับ ตอนนั้นประมาณ1 คน ซึ่งเคยคลุมผมมาก่อน จบชั้นสะนะวีย์(ชั้น8-9-10) พอมาเรียน วค. แล้วไม่คลุมผม  เพื่อนๆมุสลิมะฮฺตอนนั้นเกิดความรู้สึกว่า เอ๊..คงไม่ใช่แล้ว แต่พวกเขาก็ไม่ได้คิดเรื่องเปลี่ยนสถาบัน ไม่ได้คิดที่จะไปเอนท์ฯใหม่ เพราะนักศึกษาส่วนหนึ่งที่มีความประสงค์จะสวมหิญาบ นี่เป็นนักศึกษา “คุรุทายาท”

อะไรคือคุรุทายาท

คุรุทายาท เป็นโครงการเพื่อที่จะสร้างครูรุ่นใหม่ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการตอนนั้น  เขาบอกว่า ต้องการสร้างครูรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนวิธีคิดของเด็กในโรงเรียน ซึ่งสาขาวิชาชีพครูนั้นเป็นสาขาที่ต้องอาศัยคนที่มีศักยภาพสูง เรียนดี เกรดดีเข้าไปเรียน  เมื่อโครงการคุรุทายาทเข้ามา ทางโรงเรียนก็เลยส่งนักเรียนที่มีเปอร์เซนไทล์สูงสามอันดับแรกของโรงเรียนไปสอบแข่งขันแล้วก็ได้สองคน อีกคนเป็นเพื่อนมุสลิมะฮฺซึ่งจบชั้นสิบน่ะครับ แล้วก็ไปเรียนเอกประถม ซึ่งต้องเปิดผ้าคลุม ก็มีเพื่อนอีกสองคนที่จบชั้นสิบจากโรงเรียนธรรม(ธรรมวิทยามูลนิธิ) กับโรงเรียนพัฒนาวิทยา เพื่อนสองคนที่จบชั้นสิบโรงเรียนธรรมเนี่ยก็ไปติดประถมวัย  ทั้งคู่ก็ต้องเปิดผ้าคลุมเหมือนกัน ประกอบกับเพื่อนเอกสังคม เอกคณิต  เอกต่างๆนี่ รวมๆแล้วก็มีประมาณสิบสองคนครับ  พี่ปีสองร่วมด้วยคนหนึ่ง

มีการดำเนินการอย่างไรบ้างครับ

ทีมมุสลิมะฮฺมาคุยกับชมรม “ส่งเสริมคุณธรรมอิสลาม” ซึ่งมีอิบรอเฮม ณรงค์รักษาเขต เป็นประธาน  ผมก็เป็นเลขาฯ เมื่อได้รับข้อเรียกร้องจากมุสลิมะฮฺ เอ๊ะ..ชมรมช่วยวิ่งเต้นเรื่องนี้ได้มั้ย แล้วเราก็มานั่งคุยกัน ชมรมก็ เอ๊ะ..มันเป็นอะมานะฮฺของเราแล้วนะ  จริงๆมันก็ต้องต่อสู้ ก็เลยมีการประชุม ชูรอ(ปรึกษา) สุดท้ายก็เริ่มไปถามความคิดเห็นของพี่ๆนักกิจกรรม ยมย. (ยุวมุสลิมยะลา) ตอนนั้นมีอยู่สามแนวทาง หนึ่งก็คือ ใส่เลย ไม่ต้องขออนุญาตใคร  เป็นสิทธิของความเป็นไทยอยู่แล้ว ตามมาตราที่ 25 น่ะครับ สอง ขออนุญาตก่อน เขาให้ก็ใส่ เขาไม่ให้ ไม่ต้องใส่ ทางที่สาม ใส่…พร้อมๆกับขออนุญาตวันนั้นเลย  สุดท้าย ตกลงเรียบร้อยเสร็จ เราเลือกทางที่สาม เพราะ ถ้าหากว่าขออนุญาตแล้วรอให้เขาตอบเนี่ย รับรองได้ว่าให้เพื่อนจบก่อน ไม่ได้สวมแน่  ถ้าหากว่า ใส่เลยโดยที่ไม่ขอ นักศึกษาจะกลายเป็น หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า.. จะมาทันทีเลยนะ  ละเมิดอะไรต่างๆ มาเต็มไปหมด ทีนี้จะกันทั้งสองด้าน เราก็เลย ใส่มาวันนั้น ยื่นวันนั้นเลย ก็กลายเป็นเรื่องขึ้นมา  พอเขาบอกว่า เราไม่ได้ขอก่อน เขาไม่อนุญาตอย่างนู้นอย่างนี้ ทางวิทยาลัยก็มีอาการนิดหน่อย  ทีนี้ เรื่องมันก็เริ่มที่จะคาราคาซังขึ้น เพื่อนที่ใส่ ไม่ได้เข้าห้องเรียน อาจารย์เชิญออกนอกห้อง  พอวันที่สองใส่อีกอาจารย์ก็ไม่สอน ลองนึกภาพดูว่านักศึกษาในระดับอุดมศึกษาชั้นปีหนึ่งนะครับ โดนอย่างนี้ ก็เลยมีอาการแบบ กลัวเรียนไม่จบบ้าง  กลัวพ่อแม่ว่าบ้าง กลัวพ่อแม่โกรธบ้าง  กลัวจะโดนกล่าวหาว่า มาทำเรื่องการเมืองบ้าง ก็เลยไม่สบายใจ เป็นเหตุให้ จากสิบสองคน ร่วงลงมาเรื่อยๆ เมื่อโดนกดดัน โดนบีบจากผู้บริหาร จากคณาจารย์ จากอาจารย์ที่ปรึกษา เขาใช้ทุกวิธีครับ วิธีในการที่จะบีบ ที่จะกดดัน เพราะฉะนั้น ใครที่ตัดสินใจห้าสิบห้าสิบนี่ไปต่อลำบาก

บรรยากาศวันสอบเป็นยังไงบ้างครับ

คือบางคนก็จะยอมถอด จะยอมเพื่อสอบ เพราะว่าวันสอบ เป็นวันสุดท้ายที่จะติดสินใจอนาคตเขาใช่มั้ยครับ  วันสอบนี้เป็นวันตัดสิน ว่าเค้าจะจบหรือไม่จบ  เขาจะได้เกรดหรือไม่ได้เกรด เพราะว่าเพื่อนบางคน นี่พ่อแม่ยังไม่รู้ก็มี แต่เขามั่นใจว่าเขาทำสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง เขาก็ทำ… ดีเดย์คือวันสอบ (เสียงเน้นหนักขึ้น) พวกเราที่เป็นผู้ชายนี่ก็ตื่นเช้าเลยนะ ตื่นเต้นกว่าเพื่อนๆผู้หญิงซะอีกน่ะ ก็..สนุกครับ สนุก ก็เป็นการต่อสู้อย่างบริสุทธิ์ของนักกิจกรรมชมรมมุสลิม ในสมัยนั้นน่ะครับ ซึ่งไม่มีมือที่สาม มือที่สองยังไม่มีเลย มีมือที่หนึ่งนั่นแหละ ก็..ไอ้เรื่องละหมาด ดุอาอฺ อิสติคอเราะฮฺ ละหมาดฮาญัต ไม่ต้องพูดถึงเลยน่ะครับ ตอนนั้น คึกคัก ที่หอคุยกันแต่เรื่องนี้  เราก็วางกำลัง ดูว่าเพื่อนอยู่ในสาขาอะไร มีห้องสอบห้องไหน ผมไปประจำอยู่ห้องสอบ สมมติว่า ห้อง 101 ก็จะไปประจำการอยู่  ก่อนที่เพื่อนมุสลิมะฮฺจะมา สมัยนั้นโทรศัพท์ยังไม่มีน่ะครับ เอ่อ..เพื่อนอีกคนหนึ่งก็ไปอยู่ตึกนู้น เพื่อนคนนี้ก็ไปดูตึกวิทยาศาสตร์ คนนี้ก็ไปอยู่ตึกศึกษาศาสตร์ คนนู้นไปอยู่ตึกสังคม เพราะว่าต้องการจับอาการ สังเกตตั้งแต่วินาทีที่เพื่อนมุสลิมะฮฺเข้ามา  พอเพื่อนมุสลิมะฮฺเข้ามาถึงปั๊ปนี่ อาจารย์บางคนถึงกับพูดว่า เธอ…ไม่มีสิทธิสอบ เธอทำข้อสอบไม่ได้ นอกจากเธอว่าจะต้องถอดอย่างเดียว เพราะว่าก่อนหน้านี้ ตอนที่คุยต่อรองน่ะครับ ทางวิทยาลัย เคยเสนอแม้กระทั่งจะให้เราใส่เฉพาะวันศุกร์ เราบอกว่าไม่ได้ เสร็จแล้วมีข้อเสนออีกข้อหนึ่ง ก็คือ พวกคุณใส่มาจากบ้าน จากหอพัก พอถึงห้องเรียนปั๊ป วิทยาลัยจะตอกตะปูไว้ ให้เอาเสื้อคลุม เสื้อแขนยาว ผ้าคลุมนี่ไปแขวน เราก็รับไม่ได้ตั้งแต่ต้น พอถึงวันสอบเขาก็มาบอกว่าโอเค ถ้างั้นไม่ให้สอบ พอไม่ให้สอบล่ะครับ เท่านั้นแหละ สายก็ส่งไปเรื่อยๆ เสียงตะโกนทางนู้น ทางนี้  ก็รู้แล้วว่าสอบไม่ได้ ข้อแรกพ่อแม่เราก็เสียภาษีเหมือนกัน ทำไมเราจะเอาผ้ามาใส่บนหัวเราไม่ได้ ประมาณสักเก้าโมงเช้ารู้ตัวว่า อาจารย์ทุกห้องไม่ให้เด็กสอบ ตอนแรกอาจารย์บางห้องก็อะลุ่มอล่วย  เพราะอาจารย์ไม่รู้ว่าเราจะมาไม้ไหน เพราะคิดว่าวันสอบนี่ พวกเราต้องยอมแน่ วันสอบนี่ คงเป็นวันที่นักศึกษาต้องทิ้งไพ่แน่  ปรากฏว่าวันสอบนี่ใส่กันพรึบเลยนะครับ  พอเข้าสอบไม่ได้ปุ๊บ เราก็เชิญนักศึกษาผู้หญิงทั้งหมดมารวมกันที่มุศ็อลลา วค. ซึ่งสมัยนั้นเล็กๆ แล้วก็นักศึกษาชายก็มารวมกันที่มุศ็อลลาทั้งหมด

แล้วนักศึกษาชายละครับเข้าสอบมั้ยครับ

มันเป็นฮิกมะฮฺในช่วงเวลานั้นน่ะ คือพอนักศึกษาชายทราบข่าวว่ามุสลิมะฮฺสอบไม่ได้นี่ นักศึกษามุสลิมีนส่วนหนึ่ง เอ๊..เราจะเสียเวลาไม่ไปสอบกับเขา ก็ขาดทุนสิ มันเป็นบททดสอบสำหรับนักศึกษาชายด้วยครับ คือพวกเรา บิสมิลลาฮฺล่ะ ดร.อิบรอเฮม นี่บิสมิลลาฮฺแล้ว คือ หลายคนบิสมิลลาฮฺแล้ว ยังไงฉันก็ไม่สอบ คือจะดูเอาวิชาแรก ถ้าเด็กมุสลิมะฮฺสอบได้หมด เรายอมแก้วิชาแรก  เรายอมตกวิชาแรกแล้วค่อยไปสอบแก้เอา วิชาสองสามสี่เราสบาย เราเข้าสอบตามปกติ แต่ถ้ามุสลิมะฮฺสอบไม่ได้วิชาแรกนี่ เราทำใจได้เลย  เราจะได้ไม่ต้องสอบกัน ตรงนี้แหละครับเป็นจุดวัดใจของพี่น้องมุสลิมที่อยู่ในสถาบัน ว่า…จากตอนนั้นน่าจะไม่เกินเจ็ดสิบคนน่ะครับทั้งมหา’ลัย หรือไม่มั่นใจแล้ว แต่ที่มาร่วมกับเราแค่สามสิบกว่าคน  มุสลิมเข้าไปเรียน ยังไม่เยอะเท่าไหร่

แต่ที่แน่ๆคือมาเข้าร่วมกันสามสิบคน

สามสิบกว่า สามสิบกว่านี่ก็ พะอืดพะอมสักอีกประมาณสักครึ่ง แต่เนื่องจาก..ประมาณสักสิบคนครับที่ไม่ใส่ชุดนักศึกษาตั้งแต่แรกแล้ว เป็นพวกนกหวีด(พวกระดมพล)อ่ะครับ นั่นล่ะครับเริ่มตักบีรครั้งแรก อัลลอฮุอักบัร ครั้งแรกดังที่มุศ็อลลา แล้วขยับขบวนไปที่หน้า สนอ. (สำนักงานอธิการบดี) อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร พอตกบ่าย ถ้าผมจำไม่ผิดน่ะครับ เวลาอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง พอช่วงบ่ายปรากฎว่า มีม็อบมาหน้า สนอ. ก็เข้าใจว่ามหา’ลัยจัดตั้งขึ้นมา เป็นม็อบนักศึกษาต่อต้านการเรียกร้องของพวกเรา เราก็อยู่ทางนี้ที่มุศ็อลลา เขาก็อยู่ทางนู้น นี่พวกเขาเป็นเพื่อนเรานะ เป็นเพื่อนที่เรียนด้วยกัน เล่นด้วยกัน เขาก็ด่าตามคำสั่งของเขา ตามสคริปที่เขียนมา ใบปลิวไม่ต้องพูดถึงครับ ใบปลิวนี่ นึกภาพเด็กอายุสิบแปดที่มาจากปอเนาะ แล้วก็ไม่ใช่เรียนรู้จากประสบการณ์ ตั้งแต่ปี 47 จนถึงปัจจุบัน เยาวชนที่นี่ เดี๋ยวนี้เขาเรียนรู้เยอะเนาะ มีใบปลิว มีเหตุการณ์ มีทหาร มีตำรวจ จนกระทั่งรู้สึกธรรมดาไปแล้วก็มี แต่เด็กรุ่นนั้นน่ะ แค่เห็นตำรวจเข้ามาดูแลสถานการณ์นี่ การกุมอาการของพวกเรานี่..ใจสั่น ทำให้เพื่อนสามสิบ สี่สิบคนนี่ ทยอยหายไปทีละคนๆเหมือนกัน สุดท้ายเราก็ไม่ยอมอ่อนข้อ ทางวิทยาลัยพยายามส่งอาจารย์มุสลิมมาต่อรอง เราก็ยังรู้สึกไม่ดีจนถึงตอนนี้น่ะครับ พออาจารย์มุสลิมมาต่อรองปั๊ป เราก็คุยกับอาจารย์ว่า ไม่ต้องมาต่อรองอะไร เพราะว่ามันเป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ  เราก็บอกอาจารย์ พอเห็นว่าไม่สำเร็จ อาจารย์ก็หันหลังไป ก็กดดันพอสมควร  หลังจากนั้นเราก็ร้องเรียนไปยัง ศอ.บต ด้วยเหตุผลที่ว่า นักศึกษาเข้าสอบไปไม่ได้นะครับ นักศึกษาเข้าสอบไม่ได้ ขอความเป็นธรรม

ช่วงนี้เริ่มมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว

ช่วงนี้สายการเมืองก็เริ่มเข้ามา  เพราะว่าพอเรื่องเริ่มแดงขึ้นๆ ทาง ยมย.ที่เป็นพี่ๆ ที่เป็นนักกิจกรรมเก่า ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของราชภัฏฯ เขาก็มาให้คำปรึกษา ก็จะประชุม อยู่ห้องละหมาดของชมรมทุกๆวัน ทุกๆวักตู แล้วเผอิญว่าตอนนั้น มัสญิดโรงเรียนพัฒนาวิทยา ยังไม่มี ข้าราชการส่วนใหญ่จะไปละหมาดที่ชมรมมุสลิม วค. ข้าราชการพละ ข้าราชการ ประมาณแถวๆ ย่านคุรุ นี่นะครับ ก็จะไปละหมาดที่นั่นกัน ก็ไปเจอกัน จะมีร้านอาหารด้วยละหมาดเสร็จก็ไปกินที่ร้าน มันก็เลยกลายเป็นจุดพูดคุยกันบ่อยๆ

sm5

หลังจากนั้นข้อสรุปที่ได้เป็นอย่างไรครับ

สรุปในจุดนี้นะครับ ว่าการต่อสู้ของเราตั้งแต่ต้นจนจบนี่ มันมีสองสิ่งที่อยากจะนำเสนอก็คือ เรื่องของการประชุมหรือเรียกว่าการชูรอในหมู่นักศึกษานี่แหละ คือเราไม่ได้ตัดสินใจคนเดียว ทำคนเดียว เราจะประชุมกันตลอด คือผมคิดว่า บะเราะกะฮฺจากการทำงานตรงนี้แหละที่ทำให้มันสำเร็จขึ้นมา คือเป้าหมายในการต่อสู้ครั้งนี้ ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ  แต่จะเล่าให้น้องๆฟังว่า ความบริสุทธิ์ใจของทีมนักศึกษาหญิงกับทีมซับพอร์ตที่เป็นผู้ชายเนี่ย มาชาอัลลอฮฺ ความบริสุทธิ์ใจตรงนี้มันสามารถที่จะทำให้ผู้ใหญ่เริ่มมองเห็นความสำคัญ  จนถึงวันนี้ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ เราก็เห็นการแพร่กระจายโอกาสในการสวมหิญาบ ส่วนในเรื่องของคุณภาพของการสวมใส่หิญาบนั้นก็ว่ากันไป   (อ.ชากีรีนเสริมว่า) ผมตั้งข้อสังเกตนะ จริงๆตอนนั้นในทีมงานไม่มีเรื่องแฟนอะไรพวกนั้นเลย ประเด็นนี้มีความสำคัญนะ มันเป็นตัวบอกอิคลาศในการทำงาน เป็นปัจจัยต่อความสำเร็จ เพราะหากมีเรื่องพวกนี้เข้ามา การทำงานก็จะต้องโชว์ออฟ มันเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก มันเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์นะ หิญาบ วค.ยะลา ตอนประท้วงผมยังจำได้เลยนะ ตอนนั้นอยู่ ม.6 อัตตัร (โรงเรียนอัตตัรกียะห์ อิสลามียะห์) เหมารถนั่งกันมาจากนราธิวาส


แล้วนักศึกษาที่เป็นแกนนำนี่ไปไหนหลังจากที่สู้มาด้วยกัน

แต่ละคนยุ่งอยู่กับการประท้วงนี่ พอประท้วงเสร็จมันเหมือนกับว่าอัลฮัมดุลิลลาฮฺ มันโล่งครับ เวลาอ่านหนังสือไม่มี แต่เวลาสอบก็ไปสอบ ปรากฏว่าได้หมด พวกที่ประท้วง พวกที่เป็นทีมของการประท้วงเนี่ย ถ้าไม่เชื่อลองไปถามดู เขามีเวลาอ่านหนังสือเตรียมมั้ย มันได้อ่ะ แล้วก็ได้ในสาขาที่อยากได้ด้วยนะครับ ถึงแม้ว่าบางคนไปเรียน ม.อ.ปัตตานี สมัยนั้นคิดว่าง่ายเหรอ แล้วก็ไม่มีเวลาอ่านหนังสือ คือ…อย่างเพื่อน นี่ก็ยุ่งอยู่กับผม ยุ่งอยู่กับพวกเรา เดี๋ยวนู่นนี่ ไม่มีเวลาอ่านเลย ในขณะเด็กที่จบม.หกแล้วนี่ เขาก็อ่านกันเป็นปีแหละเนาะ หรือคนที่จะไปสอบเอนท์รอบสองก็อ่านกันเยอะ แต่ก็ไม่ได้ในสิ่งที่อยากจะได้ แต่พวกนี้ได้หมดเลย พวกที่ประท้วงอะนะ หลังจากประท้วง ก็มีสอบแก้ด้วยนะ แบบว่าโอเคหมด  แล้วก็หลังจากที่จบการศึกษาเนี่ย สามสิบ สี่สิบคนนี่ หางานทำได้ง่ายมาก มีงานทำหมดเลย  อีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มแปดคนที่เป็นแกนนำไปต่อรองกับ ศอ.บต นี่ ก็อัลฮัมดุลิลาฮฺ ได้รับโอกาสจากอัลลอฮฺให้มาเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการเป็นดาอีย์ในการทำงานในสังคม  ไม่ว่าจะเป็น ดร.อิบรอเฮม ผมเอง แล้วก็เพื่อนๆที่อยู่ตามที่อื่น คือเรามองในมิติของหลักตรรกศาสตร์น่ะครับ มันไม่น่าจะเป็นไปได้ คนที่สังคมส่วนหนึ่งมองในวันนั้นว่าเป็นคนที่ถอยหลัง แต่ว่าอัลลอฮฺช่วย

ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนจิตวิทยาการเมืองมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ

หิญาบมันคือสัญลักษณ์ที่จะเห็นถึงความใจแคบหรือความใจกว้างของประเทศไทย เห็นมุสลิมะฮฺคนหนึ่งคลุมหิญาบเข้ามหาวิทยาลัยเนี่ย นั่นคือ การตีความว่าประเทศไทยใจกว้างในสายตาของเรา  แต่หลายคนอาจมองว่าไม่ใช่ คือเห็นการถอยหลัง ความคร่ำครึ ความโบราณ ในสถานศึกษาก็ได้ ยุคที่ไทยจะเข้าสู่ความเป็นอาเซียนปี 2015 นี้     มหา’ลัยใดไม่เปิดโอกาสให้ใส่หิญาบเรียนและรับปริญญา มหา’ลัยนั้นควรตกประกัน สมศ.(สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) เพราะว่ามันจะไปคู่กับ    มหา’ลัยในอาเซียนไม่ได้ มหา’ลัยในอาเซียนนี้เขาไม่คุยเรื่องนี้แล้ว คุณเป็นใครก็แล้วแต่ คุณก็สามารถที่จะคลุมหิญาบได้ คุณเป็นซิกข์คุณก็คลุมไปซิ คุณจะเป็นแม่ชีฝรั่ง คุณก็คลุมไปตามประสาคุณ  การปรับตัวทั้งระบบในประเทศไทย แล้วเรามาเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้  ผ้าคลุมบนหัวของคนอื่นแล้วคุณจะไปยุ่งทำไม ที่ใดก็แล้วแต่ ที่ไม่อนุญาตหรือบังคับไม่ให้ใส่หิญาบ ผมว่าที่นั่นมีปัญหาเรื่องความมั่นคงของมนุษย์  อันนี้โพสต์ไปก็ได้นะครับ ผมโพสต์ไปแล้วแต่ฟีดแบ็คมันไม่ดีพอเท่าเรื่องหนองจอก

หมายถึงโพสต์ลงเฟสบุ๊คหรือครับ

ครับ คือเรื่องมุสลิมะฮฺที่ใส่ผ้าคลุมใหญ่ แล้วเดินผ่านเครื่องสแกนที่สุวรรณภูมิ ถ้าพวกเราสังเกต แม้ว่าเครื่องไม่ดังเขาก็จะเรียกไปเจอตะบองใหญ่  เช็คอีกทีหนึ่ง ยิ่งปิดหน้าก็จะไปใหญ่เลย เพราะผมเคยเห็นเคสที่มันไม่ดัง แต่เมื่อเด็กคนหนึ่ง น่าจะเป็นนักศึกษาบ้านเราทางภาคใต้ แล้วก็ผ่านเครื่องสแกนแล้วมันไม่ดัง แล้วเด็กคนนั้นถูกเรียกไปเพื่อที่จะตรวจสอบอีกรอบหนึ่ง ผมก็ไปถามหลังจากนั้นว่า ทำไมถึงตรวจเขา เขาบอกว่านายสั่ง คือจะไปดูว่าเขาเขียนไหมว่าถ้าพวกใส่ผ้าคลุมใหญ่ผ่านเครื่องสแกนแล้วไม่ดัง ก็ให้ตรวจ คือจะดูว่ามีข้อความนี้ไหม ถ้าไม่มีนั่นคือคุณละเมิด หรือปฏิบัติเกินหน้าที่ นั่นหมายความว่าคุณละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและความมั่นคงของมนุษย์ แล้วเราจะร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บนพื้นฐานนี้

นิยามของหิญาบที่เปลี่ยนไปเป็นเพียงแค่ผ้าคลุมผมบางทีก็ใส่กางเกงรัด ?

ผมพยายามเข้าใจว่ามันเป็นการนำเข้าวัฒนธรรมการคลุมหิญาบ คือคนบ้านเราเมื่อก่อนมีให้เลือกระหว่างคลุมกับไม่คลุม ถ้าไม่คลุมก็ไม่คลุมเลย  คำว่าคลุมถูกตีความว่าคลุมอย่างดีตามหลักการศาสนา แต่ถ้าคนคลุมเขาไปเจอฝนเจอแดด เจอลม เจออะไรเขาก็คลุมอยู่นั่น แต่ตอนนี้ไม่ ตอนนี้แค่เพื่อนคลุมฉันก็คลุม  คือหลังจากผมประท้วงเรื่องหิญาบเสร็จผมไปเรียนต่อที่มาเลเซีย มันเป็นช่วงที่มาเลเซียกำลังเจอปัญหานี้พอดี กำลังเจอวัฒนธรรมของคนนุ่งกางเกง มุสลิมะฮฺที่นุ่งกางเกงเริ่มคึกคักมาก มุสลิมะฮฺที่นุ่งกางเกงตั้งแต่เดิมก็มีก็คือมุสลิมะฮฺที่ขึ้นไปเรียนกรุงเทพ เรียนหาดใหญ่ นุ่งกางเกงเหมือนกัน แต่นุ่งกางเกงไม่คลุมผม เมื่อก่อนถ้าใครนุ่งกางเกงแล้วคลุมผมจะนุ่งกางเกงหลวมๆ ไม่ใช่กางเกงแฟชั่น แต่ถ้านุ่งกางเกงยีน กางเกงเดฟ แขนสั้น นี่น่ะไม่ได้มาจากกรุงเทพ แฟชั่นนี้ไม่ได้มาจากบนลงล่าง ผมว่าวัฒนธรรมแบบนี้เป็นวัฒนธรรมที่ถูกอิมพอร์ตเข้ามาจากมาเลเซีย เพราะหิญาบที่แปลว่า สิ่งที่จะสกัดกั้นสิ่งไม่ดีเข้าในตัวเรานั้น มันยังไม่เกิดขึ้น หิญาบในมิติที่มันลึกกว่าการปกปิดร่างกายในความรู้สึกว่าแค่ไม่เห็นเนื้อ กับหิญาบที่ไม่ใช่แค่ปกปิดรูขุมขนแต่ปิดโอกาสที่ความไม่ดีจะเข้ามาในตัวเราด้วยนั้น มันค่อนข้างจะห่างมาก คือหิญาบเนี่ยบางทีมันไม่ใช่เครื่องแต่งกายเพียงอย่างเดียว มันคือเครื่องประดับอะไรด้วย

ในช่วงเหตุการณ์ประท้วงหม่อมคึกฤทธิ์ปราโมชเคยถามสังคมมุสลิมไทยว่าทำไมถึงได้มาคลุมตอนนี้ทั้งๆ ที่อิสลามของคุณนั้นมันมีมานานแล้ว

ตอบไม่ยากหรอกฮะ ไม่รู้ ไม่กลัว คนที่ไม่รู้เนี่ย บนพื้นฐานวิธีวิจัยนะครับ มองได้ 3 ขั้น คนจะทำอะไรสักอย่าง จะตัดสินใจใส่ผ้าคลุม เกิดจากพัฒนาการ 3 ขั้น

ขั้นที่ 1 Knowing ฉันรู้ว่าวาญิบไม่วาญิบ หลักการเบื้องต้นนะครับ ถามว่าคนๆนั้นรู้หรือยัง ถ้าไม่รู้แล้วคลุม ผมก็ว่าไม่บรรลุเป้าหมายนะ เขาควรจะคลุมเพราะเขารู้ว่าเป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ ถ้าเกิดมาแล้วคลุม คนที่ไม่ใช่มุสลิมในโลกนี้คลุมเต็มไปหมด ผมไปอยู่ที่โรมาเนีย แล้วก็ไปที่ออสเตรียจะเห็นคนแก่ๆ วันอาทิตย์เช้าๆคลุมผมแบบออโธดอกซ์เหมือนในหนังฝรั่งโบราณเตรียมตัวไปโบสถ์  เพราะเขารู้ว่าศาสนาเขาสั่ง ของเรานั้น สมมติเธอมองคนๆนั้นเขาคลุมเพราะเป็นวัฒนธรรม ประเพณี ไม่ใช่เนื้อหาศาสนา มันก็ไม่ใช่เป้าหมาย

ขั้นที่ 2  Act Knowledge คือ ไม่ใช่รู้อย่างเดียว แต่ตระหนักรู้ว่ามันสำคัญมีผลต่อสังคมยังไง เช่น สมมติถ้าไม่ใส่คนก็จะเห็นผมเรา จะทำให้ผู้ชายมีความรู้สึก ไม่ปกปิดเอาเราะฮฺเนี่ย สังคมมุสลิมในยุคก่อน ขั้นที่1ไม่เกิดขึ้นแล้ว ขั้นที่2ไม่ต้องพูดถึง จึงไม่แปลกที่อาบน้ำในหมู่บ้านเนี่ยเป็นบ่อน้ำบ่อเดียว ผู้หญิงนุ่งกระโจมอก คลุมผมเวลาไปเรียน เวลาทำปูโละ แต่พอเวลาอาบน้ำนุ่งกระโจมอกไป แสดงว่าการรู้ของพวกเขารู้แค่ขั้นที่1 แต่เขาไม่ act knowledge เขารู้ว่าพระเจ้าสั่งแต่เขาไม่รู้สึกว่าถ้าไม่ทำแล้วจะเกิดอะไรบ้างต่อตัวเขาเองและสังคม ลองนึกภาพในอดีตว่าเป็นยังไง ผู้ชายผู้หญิงอาบน้ำในบ่อเดียวกัน ผู้หญิงนุ่งกระโจมอก ผู้ชายก็ผ้าขาวม้า สังคมมลายูมุสลิมนะ ฉะนั้นคำถามที่หม่อมถามเนี่ยไม่แปลก นี่คือสังคมที่ยังไม่มีผู้ที่มาให้ความรู้อย่างครบวงจร ลักษณะที่ไม่มีใครนำไปสู่การปฏิบัติ

ขั้นที่3 Participation ขั้นที่อยากมีส่วนร่วมในเรื่องนั้น รู้ล่ะว่าการคลุมหิญาบเป็น อย่างนี้ และรู้ว่าถ้าทำและไม่ทำจะเกิดอะไร ขั้นที่ 3 เนี่ย ฉันทำ ฉันใส่ (แล้วรู้ว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คนอื่นคลุมด้วย) สุดยอดแล้ว คนๆนี้ไม่ถอดแล้ว แต่นี่การใส่ ณ วันนี้ ไม่ใช่ขั้นที่ 3 เป็นขั้นรู้แล้วก็ถ้าฉันไม่ใส่เนี่ยเขาจะหาว่าฉันไม่ดีฉันก็ใส่ไว้ แค่นั้น ขั้นที่ 2 ยังไม่เกิดขึ้นเลย ฉะนั้นการใส่ที่ไม่เกิดขึ้น 3 ขั้น มันไม่มีทางที่จะยั่งยืนหรอก เขาจะไปมีส่วนร่วมหรืออยากไปทำนวัตกรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้มั้ย เมื่อเขาไม่ตระหนักรู้ในขั้นที่ 2 ก่อน ก็จะไม่เกิดขึ้น

sm6

แล้วที่..ปัตตานีที่อาจารย์จบมาล่ะ (หันไปถามอาจารย์ชากิรีน)

(อ.ชากิรีน) เอ่อ…เด็กที่จบมาจากปอเนาะนี่จะถอด ตอนออกจากโรงเรียนนี่คลุม แต่พอเข้ามหา’ลัยนี่ถอด แต่นักศึกษาที่มาจากโรงเรียนสามัญทั่วไปนะ พวกนี้จะคลุม ผมมองว่ามันเป็นความล้มเหลวของการศึกษาในปอเนาะมากกว่านะเพราะว่าแทนที่จะสอนให้เขาเรียนรู้เรื่องหิญาบด้วยตนเองแต่เราบังคับพอเขาออกมาจากปอเนาะก็เหมือนเขาหลุดออกจากคุกไม่ได้ปลูกฝัง

(อ.สุกรี)ผมมีคำถามเหมือนกันนะ พวกเราไปยุ่งอะไรเรื่องหิญาบ ทำไมไปยุ่งกับเขา เรื่องของผู้หญิงเนี่ย

เหมือนอาจารย์สมัยนั้นหรือเปล่า (หัวเราะทั้งวง)

เมื่อก่อนผมเคยถามตัวเองแบบนี้เหมือนกัน ผมจะดูว่าคุณคิดเหมือนคนรุ่นผมคิดไหม เพราะหนึ่งในจำนวน(มุสลิมะฮฺ)ที่ต่อสู้เป็นแฟนเราหรือเปล่า

มันเป็นการต่อสู้คนละแบบเหมือนอาจารย์ สู้เพื่อให้ได้ใส่พวกเรานี่ความตั้งใจจริง   ก็คือ ความหมายของหิญาบมันเปลี่ยนไปครับอาจารย์โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยน่ะครับใช้คำพูดขวานผ่าซากหน่อยก็คือมันขัดตาน่ะครับ

มีกี่คนที่คิดเหมือนพวกคุณ (ทุกคนเงียบชั่วขณะ)

คนที่มองแล้วขัดตานี้เยอะแต่ที่ขัดตาแล้วคิดจะทำอะไรสักอย่างนี้น้อย

ข้อที่1 เมื่อกี้คือ Knowing เห็นปั๊บคือไม่สบายใจ ไม่ชอบใจ ก็รู้เท่านั้นแหละ คือเห็นปั๊บแล้วคิดว่ามันไม่ใช่ (เพราะขัดคำสั่งอัลลอฮฺ) แต่เห็นปั๊บแล้วอยากมีส่วนร่วมต้องทำอะไรสักอย่าง(ขั้น3) อย่างที่บอกไปเมื่อกี้ กี่คนที่มองเคสการใส่หิญาบใน ม.อ. แล้วรู้สึกขัดตา อ้อ!ขัดตา แล้วก็จบ ขั้นต่อไปต้องนับ 1 มาทำอะไรสักอย่างที่ผมถาม เพราะว่างานนี้เนี่ยให้มุสลิมะฮฺทำอย่างเดี่ยวๆไม่สำเร็จ ถ้ามุสลิมะฮฺทำอย่างเดียวนี่เชื่อเลย มันเป็นการแก้ตัวต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่ถ้าผู้ชายทำ นั่นแหละครับคือความประเสริฐจาก image ที่บอกว่า ผู้หญิงนั้นไม่เคยถูกทอดทิ้งในสายตาอิสลามผู้หญิงไม่เคยถูกให้เดินทาง… You will never walk alone  ผมสนใจอย่างเดียว อันนี่ สมมติฐานเดิมๆนะ กลุ่มคนที่ถูกกดดันและมารวมตัวกัน มันน่าจะทำได้ดีกว่ากลุ่มคนที่… ก็มันแค่อยากจะทำ แล้วมันมารวมตัวกันทำ(งานศาสนา) แต่พอผมมานั่งวิเคราะห์สมมติฐานดู เหมือนทฤษฎีของอิบนุคอลดูนนะ ที่บอกว่าเวลาโดนจับเนี่ย ภาวการณ์สำนึกนี้ย่อมคลาย คือเวลาเราไม่มีสำนึกเนี่ยคิดยังไงก็ไม่ออก  อิบนุคอลดูนจึงบอกว่า(ในทฤษฎีวงกลมของท่าน) ช่วงที่คนตกต่ำที่สุดคือช่วงที่คนจะเข้มแข็งมากที่สุดแต่เมื่อใดที่ถูกตีแตก มันต้องรวมตัวอย่างเดียว เพราะไม่มีอะไรจะเสียแล้ว มันก็เริ่มจะแข็ง เมื่อถึงจุดสูงสุดปุ๊บ มันก็จะคลาย ตีเมื่อไหร่ก็แตกปุ๊บ   คนที่ถูกกดดันและสู้ เทียบกับคนๆหนึ่งที่ไม่ได้ถูกกดดันทว่าเดินเข้ามาด้วยจิตสำนึกนั้นเมื่อก่อนผมมองแบบแรกมันน่าจะยั่งยืนนะ แต่ ณ ขณะนี้ผมว่าไม่ใช่แล้ว

ชื่อของอุสตาซอับดุลลอฮฺอินเดียทำไมต้องเป็นท่าน ?

อิทธิพลของอุสตาซ(ต่อแนวคิดฟื้นฟูศาสนาของเยาวชนยะลาในสมัยนั้น) น่าจะอยู่ในกลุ่ม ยมย. (ยุวมุสลิมยะลา : กลุ่มหนุ่มสาวบุคคลภายนอกที่ทำงานร่วมกับกลุ่มนักศึกษาใน วค.) ท่านไปเรียนอินเดียมา แล้วก็เอาสุนนะฮฺกลับมาสอน ซึ่งเขาจะรู้จักว่าเป็นพวก “คณะใหม่” น่ะ เพราะโต๊ะครูส่วนใหญ่สมัยนั้นมักจะให้ความสำคัญแค่อิบาดะฮฺเท่านั้น น่าสนใจว่าลูกศิษย์อุสตาซอับดุลลอฮฺ  เป็นผู้ที่

อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลง  มูฮำมัดอายุบ ปาทาน เนี่ยใช่เลย (อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ทางนำและประธาน ยมย.)

(อ.ชากิรีนเสริม) อาจารย์อนัส แสงอารีย์  อาจารย์อับดุลมาลิก มูเก็ม  ลูกศิษย์อุสตาซ อับดุลลอฮฺ อินเดียทั้งนั้นแหละ อาจารย์อนัส  อาจารย์มาลิก เนี่ย เรียนมัธยมฯที่คณะราษฎรบำรุงนะ  แล้วไปเรียนนอกเวลากับอุสตาซอับดุลลอฮฺที่ปอเนาะอามันของเขา

(อ.สุกรี)พวกเราต้องเข้าใจนะว่านบีไม่มีแล้ว อธิการ(ดร.อิสมาอีลลุฏฟี)พูดเมื่อเช้านี้ว่า ณ ขณะนี้ “อุมมะฮฺ มุหัมมาดิยะฮฺ” เนี่ย มันหมายถึงคนที่เป็นมุสลิมแล้วก็ไม่เป็นมุสลิมด้วย แต่ถ้า “อุมมะฮฺ วาหิดะฮฺ” เนี่ย มันหมายถึงเฉพาะมุสลิมอย่างเดียว หมายถึงเราต้องพยายามที่จะทำให้มุสลิมเนี่ยรวมเป็นเนื้อก้อนเดียวกัน แต่ถ้าสมมติว่า “อุมมะฮฺ มุหัมมาดิยะฮฺ” นี้ นบีมุหัมมัดไม่ใช่สมบัติเฉพาะของมุสลิมนะ นบีมุหัมมัดเป็นสมบัติของทุกคนที่เกิดหลังท่าน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเพื่อนในห้องเรียนเนี่ย จะมีพุทธหรือคริสต์ที่ไม่เข้าใจอิสลาม ไม่เข้าใจ ไม่รู้จักนบีมุหัมมัด… เราบาปนะ เพราะเขาคือประชาชาติของ  มุหัมมัด แต่ไม่รู้จักมุหัมมัด  ทำยังไงให้อยู่รวมกันให้ได้ สมัยนบีมุนาฟิก 30 กว่าคน นบียังเอากุรอาน มาอ่านเองตัวเป็น ๆ วันนี้ลงอายะฮฺ พรุ่งนี้บอก สมัยเราจะมีมุนาฟิก 30-40 เปอร์เซน 99 เปอร์เซนต์ก็ยังไม่แปลกเลย คอนเซปต์ที่ผมว่า “อุมมะฮฺ อิสลามียะฮฺ” นี่สำคัญ  เมื่อนบีไม่มี แต่อามานะฮฺของนบีต้องเดินต่อนี่ อัลลอฮฺไม่ได้ซอลิม อัลลอฮฺจะต้องส่งคนขึ้นมา มีมุญัดดีดขึ้นมา โดยมีหลายทฤษฎี อย่าง 100 ปี มี 1 คน หรือที่ไหนแย่มาก ๆ อัลลอฮฺก็จะส่งมา โดยบางทีอาจจะเป็นลูกของคนที่ญาฮิลที่สุด ที่สุดก็มาสอนพ่อตัวเอง บางทีก็เป็นลูกของคนที่ดีที่สุด เช่น สมมติว่าเป็นลูกของนบียะอ์กูบ ก็คือนบียูสุฟ บางทีก็โนเนมมาเลย

ดังนั้นเมื่อประยุกต์เข้ากับโลกปัจจุบัน อันนี้ความเห็นผม อย่าไปตีความ อุสตาซอับดุลลอฮฺ อินเดีย ก็มุญัดดีดตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่อัลลอฮฺส่งมาเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือและการคงอยู่ของอิสลาม แต่ถ้าตามทฤษฎี 100 ปี เกิดคนๆหนึ่ง อันนี้อย่าเอาไปขยายความเพิ่มนะ ในพื้นที่เราเนี่ย ชัยคฺดาวูด อัลฟะฏอนีย์ ในอดีต มาเลเซีย อินโดเนเซีย บรูไน ไทยเนี่ย เอ่ยกันชัดเจนว่าท่านคือมุญัดดีด อีก 100 ปีต่อมาก็ตรงกับชัยคฺอะหฺมัด อัลฟะฏอนีย์ ซึ่งหนังสือของท่านได้รับการตีพิมพ์ในอิสตันบูล หัวใจของอาณาจักรอิสลามสมัยนั้น ลองนึกภาพว่าฟะฏอนีย์มันแน่ขนาดไหน และถูกอ่านโดยเด็กรุ่นใหม่ในอินโดเนเซีย ในมักกะฮฺเอง เราต้องมาดูว่าความมุญัดดิจนี้คืออะไร? ที่สำคัญคือ การเขียน วันนี้เรามีหนังสือของเชคดาวุดให้อ่าน มุญัดดีดเชคอะหมัดยังมีอยู่ ผมจะบอกว่าอัลลอฮฺจะส่งคนมา แต่เป็นไปได้ว่ายุคเดียวกันอาจมีสองคนก็ได้ แล้วก็ให้อุมมะฮฺเลือกกันเอง

นี่คือสิ่งที่ชะบ๊าบรุ่นคุณทั้งหลายต้องคิด ที่สำคัญคือ ความยั่งยืนของสิ่งที่กำลังทำ ณ ขณะนี้ วันนี้ ไม่แปลกหรอก เพราะทุกคน 4 โมงปุ๊บไม่ต้องออกจากออฟฟิศ 5โมง ไม่ต้องไปรับลูก ไม่แปลกหรอก 8 โมงเช้ายังไม่ต้องใส่ชุดไปทำงาน  หัวใจยังอยู่ตรงนี้อยู่ แต่เมื่อใดเมื่ออย่างอื่นมาบังคับตัวคุณ คุณจะยังทำต่อไปอีกไหม ? เหลือไม่กี่คน เราก็ทำได้ไม่ดีนะ เพราะเราคิดว่าคนที่ทำได้ดีกว่าเราอีกเยอะ แต่เขา

ไม่ได้ทำ และลอยไปในหมู่เมฆไปแล้ว ถ้าทุกคนวิ่งไล่ตามเงินเดือนที่มันแพงทุกวัน อิสลามอาจยังไม่อยู่ในภาวะตอนนี้ก็ได้

ใส่ความเห็น